ในปี ค.ศ.2482 นายนอร์เบิร์ต วีเนอร์ (Norbert Wiener) นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้บัญญัติหลักการของไซเบอร์เนติกส์ (Cybernatics) อันเป็นพื้นฐานของสาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์ในเวลาต่อมา
หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติเพิ่งจะมีปรากฏในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 หุ่นยนต์ดิจิทัลตัวแรกที่สามารถโปรแกรมได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์มีชื่อว่า “Unimate”[10] ติดตั้งในปี ค.ศ.1961 (พ.ศ. 2504) เพื่อใช้ยกแท่งเหล็กร้อนมาวางทับกันเป็นกอง จากเครื่องฉีดอะลูมิเนียม (Die Casting Machine) ในปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหการอย่างแพร่หลายเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วกว่า มีคุณภาพมากกว่า และราคาถูกกว่าแรงงานมนุษย์ หุ่นยนต์ถูกใช้ในการทำงานที่สกปรก, อันตราย, หรือไม่สามารถทำให้ประสบผลสำเร็จได้โดยมนุษย์ หุ่นยนต์มีการออกแบบอย่างแพร่หลายสำหรับการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม, การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์, การบรรจุภัณฑ์, การทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่, การขนส่ง, การสำรวจอวกาศและพื้นผิวโลก, การผ่าตัด, การสงคราม, การวิจัยในห้องปฏิบัติการ, การรักษาความปลอดภัย และการแปรรูปสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อจำหน่ายสำหรับผู้บริโภคในเชิงพาณิชย์