หลังอายุ 40 ปี อัตราการเสื่อมของกระดูกจะมากกว่าอัตราการสร้างทั้งในเพศหญิงและเพศชาย เซลล์กระดูกลดลง แคลเซียมมีการสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากการรักษาระดับแคลเซียมในเลือดให้คงที่ เนื่องจากแคลเซียมถูกดูดซึมจากลำไส้น้อยลง และมีการสูญเสียแคลเซียมมากขึ้นทั้งทางลำไส้และทางไต เพราะขาดวิตามินดีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้และดูดกลับแคลเซียมที่ไต สำหรับในเพศหญิงสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblasts) ลดลงหลังหมดประจำเดือน ทำให้แคลเซียมสลายจากกระดูก ทำให้กระดูกเปราะและหักง่ายแม้ว่าจะไม่ได้รับอุบัติเหตุ และแคลเซียมที่สลายออกจากกระดูกนี้มักไปเกาะบริเวณกระดูกอ่อนในอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ คือบริเวณกระดูกอ่อนชายโครง เป็นสาเหตุให้ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยลง การหายใจลำบากขึ้นต้องอาศัยการทำงานของกระบังลมมากขึ้น นอกจากนั้นแคลเซียมอาจไปเกาะที่เนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น ผนังหลอดเลือด ทำให้ความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดลดลง ความยาวของกระดูกสันหลังลดลงกระดูกสูญเสียน้ำและบางลง กระดูกสันหลังผุมากขึ้นทำให้หลังค่อมหรือหลังเอียงมากขึ้นกระดูกจึงเคลื่อนไปกดเส้นประสาท ความสูงจะลดลงประมาณ 1 - 3 นิ้ว ความยาวของกระดูกยาวคงที่ ขนาดของกระดูกมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ภายในจะกลวงมากขึ้น รูปร่างของผู้สูงอายุจึงไม่สมส่วนกัน
บริเวณข้อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและส่วนประกอบ ข้อใหญ่ขึ้น กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่าง ๆ บางลงและเสื่อมมากขึ้นตามอายุ น้ำไขข้อลดลงเป็นเหตุให้กระดูกเคลื่อนที่มาสัมผัสกัน จึงได้ยินเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหว เกิดการเสื่อมของข้อ การเคลื่อนไหวของข้อต่าง ๆ ไม่สะดวกเกิดการติดแข็ง ข้ออักเสบและติดเชื้อได้ง่าย ทำให้มีอาการปวดตามข้อ ข้อที่พบว่ามีการเสื่อมได้บ่อย คือ ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อกระดูกสันหลัง