Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
ชนิดของเมฆและลักษณะของเมฆแต่ละชนิด, เสตรตัสเป็นหนึ่งในเมฆระดับต่ำร่วมกับคิ…
-
เสตรตัสเป็นหนึ่งในเมฆระดับต่ำร่วมกับคิวมูโลนิมบัส คิวมูลัสและสเตรโตคิวมูลัส ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับพื้นโลกจนถึง 1,200 ฟุต (400 เมตร) เกิดจากไอน้ำในอากาศอุ่นพบกับอากาศที่เย็นกว่าบริเวณพื้นดิน ทำให้เกิดการควบแน่นกลายเป็นก้อนเมฆ
คิวมูลัสก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูง 1,200–6,500 ฟุต (400–2,000 เมตร) เมฆคิวมูลัสเกิดจากการพาความร้อนในอากาศ เมื่ออากาศร้อนที่พื้นโลกลอยตัวขึ้นไปสัมผัสกับอากาศเย็นด้านบน ทำให้ไอน้ำควบแน่นกลายเป็นเมฆ ในพื้นที่ริมทะเล คิวมูลัสจะก่อตัวบนฝั่งในตอนกลางวันเนื่องจากลมทะเลที่มีความชื้นพัดมาปะทะกับอากาศร้อนบนชายฝั่ง ในขณะที่ตอนกลางคืน คิวมูลัสจะก่อตัวในทะเลเนื่องจากอากาศในทะเลจะร้อนกว่าบนชายฝั่ง
สเตรโตคิวมูลัสเป็นหนึ่งในเมฆระดับต่ำ ร่วมกับคิวมูโลนิมบัส คิวมูลัสและสเตรตัส โดยทั่วไปก่อตัวที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 6,500 ฟุต (2,000 เมตร) เกิดจากการพาความร้อนเนื่องมาจากกระแสลมแปรปรวนที่ยกตัวสูงขึ้น แต่ไม่สามารถพัฒนาในแนวตั้งได้เพราะอากาศด้านบนแห้งและเสถียรกว่า ลักษณะเป็นชั้นของสเตรโตคิวมูลัสเกิดจากการผันผวนของอากาศ ส่วนลักษณะเป็นกองเกิดจากการพาความร้อนที่เกิดขึ้น สเตรโตคิวมูลัสเป็นเมฆที่ช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ โดยสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ราว 2 ใน 3 ของแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบในทะเล
นิมโบสเตรตัสเป็นเมฆที่เกิดจากมวลอากาศร้อนที่ยกตัวสูงขึ้นช้า ๆ จากแนวปะทะอากาศร้อนหรือแนวปะทะ และบางครั้งเกิดจากเมฆที่อยู่ระดับสูงกว่า เช่น เซอร์โรสเตรตัส และอัลโตสเตรตัส โดยทั่วไปแล้ว นิมโบสเตรตัสไม่ก่อให้เกิดพายุฟ้าคะนอง แต่ด้วยแนวปะทะอากาศร้อนที่กลายสภาพเป็นอากาศร้อนและแห้ง ทำให้เมฆคิวมูโลนิมบัสซึ่งเป็นเมฆฝนเช่นกัน ก่อตัวใกล้กับนิมโบสเตรตัสและเกิดฟ้าผ่าและฟ้าแลบได้
เมฆอัลโตสเตรตัสเป็นเมฆระดับกลาง ก่อตัวที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูง 6,500–20,000 ฟุต (2,000–6,000 เมตร) เกิดจากมวลอากาศที่ยกตัวขึ้นจนไอน้ำควบแน่นกลายเป็นแผ่นผลึกน้ำแข็ง อัลโตสเตรตัสมักก่อตัวก่อนหน้าแนวปะทะอากาศร้อนหรือแนวปะทะปิด และบางครั้งเกิดร่วมกับเมฆคิวมูลัสในแนวปะทะอากาศเย็น เมฆชนิดนี้ก่อให้เกิดฝนตกเล็กน้อย หากมีฝนตกยาวนาน อัลโตสเตรตัสอาจกลายสภาพเป็นเมฆนิมโบสเตรตัส ซึ่งเป็นเมฆฝนชนิดหนึ่งที่ไม่ก่อให้เกิดฟ้าแลบฟ้าผ่า
เมฆอัลโตคิวมูลัสเป็นเมฆระดับกลาง ก่อตัวที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูง 7,000–18,000 ฟุต (2,000–5,000 เมตร) เมฆชนิดนี้สามารถก่อตัวได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสลายตัวของเมฆอัลโตสเตรตัส หรือการยกตัวของอากาศชื้นที่ถูกทำให้เย็นตัวลงด้วยความปั่นป่วนของอากาศ อัลโตคิวมูลัสมีลักษณะคล้ายกับเซอร์โรคิวมูลัสซึ่งเป็นเมฆที่อยู่ระดับสูงกว่า แต่ต่างกันที่อัลโตคิวมูลัสมีสีขาวและเทา ในขณะที่เซอร์โรคิวมูลัสมีสีขาวและเล็กกว่า นอกจากนี้อัลโตคิวมูลัสไม่ก่อปรากฏการณ์เฮโล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในกลุ่มเมฆระดับสูง
เซอร์โรสเตรตัสเป็นเมฆที่ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ ที่ระดับความสูง 20,000–40,000 ฟุต (6,000–12,000 เมตร) เกิดจากไอน้ำที่เย็นตัวลงกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง การมีอยู่ของเซอร์โรสเตรตัสในอากาศสามารถบ่งชี้ถึงความชื้นปริมาณมากบนชั้นโทรโพสเฟียร์ตอนบน เซอร์โรสเตรตัสไม่ก่อให้เกิดฝนตก แต่เป็นสัญญาณนำของแนวปะทะอากาศร้อนที่ก่อให้เกิดฝนตกใน 12–24 ชั่วโมงถัดมา หรือ 6–8 ชั่วโมงในกรณีที่แนวปะทะเคลื่อนตัวเร็ว
คิวมูโลนิมบัสที่มีการก่อตัวอย่างสมบูรณ์จะมีลักษณะเรียบคล้าย "แท่งทั่ง" ที่ใช้ในการตีขึ้นรูปเหล็ก การก่อตัวในลักษณะนี้เกิดเนื่องมาจากกระแสลมที่ช่วยในการยกตัวขึ้นไปมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วบริเวณชั้นโทรโพพอส ชั้นเมฆส่วนที่เป็นแนวราบของคิวมูโลนิมบัสในบางครั้งจะอยู่นำหน้าส่วนที่เป็นแนวตั้งเป็นระยะทางหลายไมล์ โดยทั่วไปแม้จะเป็นคิวมูโลนิมบัสขนาดเล็กแต่ก็มีขนาดที่ใหญ่กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเมฆประเภทอื่น ๆ
ซอร์โรคิวมูลัสเป็นเมฆที่ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ ที่ระดับความสูง 20,000–40,000 ฟุต (6,000–12,000 เมตร) เกิดจากการพาความร้อนในอากาศทำให้ไอน้ำบางส่วนกลายสภาพเป็นผลึกน้ำแข็งหรือน้ำในสถานะเย็นยวดยิ่ง เมฆเซอร์โรคิวมูลัสมีลักษณะคล้ายกับเมฆอัลโตคิวมูลัสและแยกได้ยากเนื่องจากบางครั้งเมฆสองชนิดนี้เกิดร่วมกันจากคอนเทรลของเครื่องบิน แต่โดยทั่วไปเซอร์โรคิวมูลัสเป็นเมฆที่อยู่ระดับสูงกว่า มีขนาดเล็กกว่าและก่อให้เกิดปรากฏการณ์เฮโล
เมฆเซอร์รัสเป็นเมฆระดับสูง ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูงประมาณ 20,000–40,000 ฟุต (6,000–12,000 เมตร) ในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้ง ทำให้ไอน้ำเกิดการระเหิดกลับไปเป็นผลึกน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากคอนเทรล เมฆคิวมูโลนิมบัส และพายุหมุนเขตร้อน เนื่องจากเซอร์รัสเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เสถียร ทำให้บางครั้งสามารถใช้พยากรณ์ได้ว่าสภาพอากาศจะไม่ดี โดยทั่วไปเมฆเซอร์รัสไม่ก่อให้เกิดฝนตก แต่อาจก่อให้เกิดน้ำโปรยฐานเมฆ ซึ่งเป็นหยาดน้ำฟ้าที่ระเหยไปก่อนจะตกถึงพื้น