Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ - Coggle Diagram
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองนานัปการ โดยเฉพาะในด้านการสงคราม ทรงทำศึกสงครามป้องกันและขยายพระราชอาณาจักรหลายครั้ง ครั้งสำคัญในรัชกาล คือ สงครามเก้าทัพใน พ.ศ. 2328 ซึ่งได้รับชัยชนะเป็นที่เลื่องลือในยุทธวิธีการรบของกองทัพไทยที่มีกำลังพลน้อยกว่าข้าศึกที่ยกมาถึงเก้าทัพ
ด้านกฎหมายบ้านเมือง โปรดให้ชำ ระพระราชกำหนดกฎหมายให้ถูกต้องแล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกไว้ ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และพระคลัง เพื่อใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร กฎหมายนี้เรียกกันว่ากฎหมายตราสามดวง
ด้านศาสนา พ.ศ. 2331 โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนิพพานาราม(ปัจจุบัน คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) และโปรดให้ตรากฎพระสงฆ์ควบคุมสมณปฏิบัติและข้อพึงปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน รวมทั้งพระราชกำหนดกวดขันศีลธรรมข้าราชการและพลเมือง มีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระอารามทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองหลายแห่ง วัดประจำ รัชกาล คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรม โปรดให้สร้างปราสาทพระราชวัง วัดวาอาราม เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศและวัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งยังฟื้นฟูทำนุบำรุงงานศิลปกรรม ขนบธรรมเนียมและราชประเพณีต่าง ๆ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อบ้านเมืองและราษฎรหลายด้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี เพราะวรรณคดีของชาติรุ่งเรืองมาก ทรงส่งเสริมศิลปะทุกประเภททรงพระปรีชาสามารถในงานวรรณกรรมและบทละครเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมและบทละครต่าง ๆ ที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนมาก เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (บางตอน) บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ คาวี ไกรทอง มณีพิชัย สังข์ทอง กาพย์เห่เรือ และบทพากย์โขนตอนเอราวัณ นาคบาศ และนางลอย เป็นต้น
นอกจากนี้ พระองค์ยังสนพระราชหฤทัยด้านศิลปะการดนตรีเป็นอย่างยิ่งทรงเชี่ยวชาญและโปรดซอสามสาย พระองค์มีซอคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่ง พระราชทานนามว่า“ซอสายฟ้าฟาด” ทั้งนี้ พระองค์ยังพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน (บุหลันเลื่อนลอยฟ้าหรือ สรรเสริญพระจันทร์ บางแห่งเรียกว่า เพลงทรงพระสุบิน) ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ ศิลปะด้านนาฏกรรมเจริญรุ่งเรืองมาก ความงดงามไพเราะทั้งบทละคร ท่ารำ ได้ปรับปรุงและใช้เป็นแบบแผนทางนาฏศิลป์ของชาติมาจนปัจจุบัน
ด้านการปกครอง ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองในทุกด้าน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการต่าง ๆ สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองหน้าด่านชายทะเลเพื่อป้องกันข้าศึกรุกราน
ด้านการค้ากับต่างประเทศ ปรากฏว่าการค้ากับจีนและประเทศทางตะวันตกเฟื่องฟูมาก ทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ โดยทรงส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับจีน เขมร ญวนมลายู มีเรือสินค้าของหลวงเดินทางไปจีนเป็นประจำ รวมทั้งประเทศตะวันตกต่าง ๆ เช่น โปรตุเกสอังกฤษ เป็นต้น นำรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก
ด้านสังคม ทรงพระราชดำริว่า การสูบฝิ่นเป็นอันตรายแก่ผู้สูบ ทั้งก่อให้เกิดคดีอาชญากรรมขึ้นมาก แม้ฝิ่นจะนำรายได้จำนวนมากเข้าพระคลังหลวง แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อราษฎร ทรงตราพระราชกำหนดห้ามมิให้ซื้อขายและสูบฝิ่น ทรงกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้อย่างหนัก
ส่วนการพระศาสนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นใน พ.ศ. 2360 เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบริหารราชการโดยการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่บุคคลที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆทรงมอบอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินแก่เจ้านายและขุนนางที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยทรงส่งเสริมให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามความสามารถและความถนัดของบุคคลนั้น ๆการปกครองหัวเมืองประเทศราช ทรงใช้นโยบายสร้างดุลอำนาจของขุนนางในการบริหาร การปกครองด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรงใช้นโยบายการทหาร การทูต และการค้า ควบคู่กันไปตามแต่สถานการณ์ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ส่งผลให้บ้านเมืองมีความสุข พสกนิกรไทยต่างตระหนักถึงพระบารมีปกเกล้าด้านพุทธศาสนา อักษรศาสตร์ ศิลปะ และนาฏยศิลป์ อันเป็นต้นแบบแห่งศาสตร์และศิลป์นานัปการ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้รับการยกย่องว่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อเสวยราชย์แล้ว ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจด้วยการประหยัดรายจ่ายและเพิ่มพูนรายได้แผ่นดิน โดยการแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรแบบเดิม เช่น เปลี่ยนเก็บอากรค่านาจากหางข้าวมาเป็นเงิน ทรงตั้งภาษีอากรใหม่ อีก 38 ชนิด และทรงกำหนดระบบเจ้าภาษีนายอากรใหม่ โดยรัฐเก็บภาษีเองเฉพาะภาษีที่สำคัญบางอย่างด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในการพาณิชย์มานับแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนทรงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมชนกนาถว่าเป็น “เจ้าสัว” เพราะทรงเชี่ยวชาญในด้านการค้ากับต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการค้ากับจีน เป็นผลให้มีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชทรัพย์ดังกล่าวนี้บรรจุไว้ในถุงแดงเก็บรักษาไว้ในพระคลังข้างที่ ต่อมาเรียกว่า “เงินถุงแดง” (ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5พ.ศ. 2436 ทรงใช้เงินถุงแดงเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112)
ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกตามพระราชประเพณี ในรัชสมัยของพระองค์ ผลที่เกิดจากการที่ทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา คือ ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นพระราชนิยม เช่นการเปลี่ยนแปลงส่วนหลังคาโบสถ์ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบจานชามจีน เช่น ที่วัดราชโอรสาราม จิตรกรรมก็มีลักษณะผสมผสานแบบจีน
ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินสยามมีความมั่นคงทั้งทางด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้ ก็ด้วยพระบารมีปกเกล้า ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิจารณญาณที่กว้างไกล พระราชภารกิจที่ทรงมี ทำให้บ้านเมืองเปรียบเสมือนฐานแห่งความมั่นคงและความเจริญของประเทศที่ได้รับการบูรณาการโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอีกหลายรัชกาลต่อมา จากการที่พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองอย่างเต็มพระสติกำลังตลอดเวลาแห่งรัชกาล ทรงได้รับการถวายราชสดุดีจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พระองค์ท่านเป็นหัวใจแผ่นดิน”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องเผชิญกับการคุกคามโดยการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกรอบด้าน โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทยในฐานะประเทศเอกราชประเทศเล็กซึ่งด้อยกว่าอังกฤษและฝรั่งเศส จึงต้องดำเนินนโยบายการเจรจาผ่อนปรนทางการทูต การทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์กับประเทศต่าง ๆ
พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการรักษาเอกราชของชาติ เพราะในรัชสมัยของพระองค์ตรงกับสมัยลัทธิจักรวรรดินิยมที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแข่งขันแสวงหาอาณานิคม พระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาที่สยามต้องยอมเปิดสัมพันธภาพกับประเทศตะวันตก โดยทำสนธิสัญญาในลักษณะใหม่ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษทรงแต่งตั้งเซอร์จอห์น เบาว์ริงเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มเชิญพระราชสาส์นมาเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับสยามใน พ.ศ. 2398 พระองค์ทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ และโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์จอห์น เบาว์ริง เข้าเฝ้าเพื่อเจรจากันเป็นการภายในแบบมิตรภาพก่อน ซึ่งเป็นที่ประทับใจของอัครราชทูตอังกฤษมากการเจรจาเป็นทางการใช้เวลาไม่นานก็ประสบความสำเร็จ อังกฤษและสยามได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ต่อกันในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 เป็นที่รู้จักกันในนามว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง
พระองค์ทรงวางรากฐานในการยอมรับความเจริญก้าวหน้าแบบอารยประเทศมาใช้ในสยาม เช่น การรับชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการด้วยการให้เป็นล่าม เป็นผู้แปลตำราเป็นครูหัดทหารบกและโปลิศ ซึ่งโปรดให้จัดตั้งขึ้นตามแบบยุโรป นอกจากกิจการดังกล่าวแล้ว ยังมีงานสมัยใหม่เกิดขึ้นอีกมาก เช่น การสำรวจทำแผนที่ชายแดนพระอาณาเขต การตั้งโรงพิมพ์อักษรในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎหมาย คำสั่ง ข่าวราชการต่าง ๆ สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการ (ปัจจุบันเป็นกรมธนารักษ์) เพื่อใช้ทำเงินเหรียญแทนเงินพดด้วงใช้อัฐทองแดงและดีบุกแทนเบี้ยหอย จัดตั้งศุลกสถาน (กรมศุลกากร) สถานที่เก็บภาษีอากรมีถนนสำหรับใช้รถม้า เกิดตึกแถวและอาคารแบบฝรั่ง โรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร ฯลฯ
นอกจากนี้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ทรงก่อตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย ทรงบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอารามที่สร้างค้างในรัชกาลก่อนให้ลุล่วงเรียบร้อยที่สำคัญยิ่ง คือ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์เป็นงานใหญ่
ด้านการศึกษา พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยแบบตะวันตก จึงทรงริเริ่มสนับสนุนการศึกษาภาษาอังกฤษและวิทยาการสมัยใหม่ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วโลก ด้วยทรงสามารถคำนวณวันเวลาและสถานที่เกิดสุริยปราคาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีมากมายเป็นอเนกประการ แต่ที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ พระราชกรณียกิจที่ทรงเลิกทาส โดยใช้วิธีผ่อนปรนเป็นระยะ พอมีเวลาให้ผู้เป็นนายและตัวทาสเองได้ปรับตัว ปรับใจทรงพระราชดำริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับ ทรงตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่คนทุกชั้นตั้งแต่เจ้านายในราชตระกูลไปจนถึงราษฎรสามัญ ในตอนกลางและตอนปลายรัชกาลของพระองค์การศึกษาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงหลายแห่งเกิดขึ้น เช่น โรงเรียนนายร้อยโรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทยาลัย และโรงเรียนยันตรศึกษา เป็นต้น
พระราชกรณียกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศและการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการเงินการคลัง ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2416 เพื่อจัดระบบรายรับของประเทศให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นกว่าแต่ก่อน ทดแทนวิธีการที่ใช้เจ้าภาษีนายอากรเป็นเครื่องมือ ทรงพระราชดำริแก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2435 โดยทรงยกเลิกระบบเสนาบดีแบบเดิม แล้วทรงแบ่งราชการเป็นกระทรวงจำนวน 12 กระทรวง ทรงแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน และเหมาะกับความเป็นไปของบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์
นอกจากนี้ยังมีพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณูปโภค และสาธารณสุขโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองจัดการสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นเป็นแห่งแรกที่ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ. 2448 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟหลวงสายแรกระหว่างกรุงเทพฯ - นครราชสีมา และริเริ่มกิจการด้านไฟฟ้า ประปา และโทรเลข ส่วนด้านการสาธารณสุข โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อ พ.ศ. 2431 พระราชทานนามว่า“โรงศิริราชพยาบาล” ปัจจุบัน คือ “โรงพยาบาลศิริราช”
ส่วนพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุด คือ การที่ทรงรักษาอิสรภาพของชาติไว้ได้รอดปลอดภัย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทุกทิศต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกแต่ชาติไทยสามารถดำรงอธิปไตยอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
โดยสรุป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการปฏิรูปประเทศในลักษณะ “พลิกแผ่นดิน” ซึ่งส่งผลเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่ออาณาประชาราษฎร์ และก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองเป็นอเนกอนันต์แก่บ้านเมืองท่ามกลางกระแสการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกในขณะนั้น พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ล้วนเป็นการวางรากฐานและเป็นต้นแบบของความเจริญทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการต่อประชาชนชาวไทยและประเทศมากมาย ด้วยพระปรีชาสามารถดุจนักปราชญ์ของพระองค์โดยทรงวางแผนการพัฒนาด้านต่าง ๆ เริ่มจากการที่พระองค์มีพระราชดำริในการที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศซึ่งทรงเน้นการให้การศึกษาแก่พสกนิกรเป็นประการสำคัญ ทรงปรับปรุงโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งตั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”เมื่อ พ.ศ. 2453 และโปรดสร้างอาคารเรียนที่อำเภอปทุมวัน เมื่อ พ.ศ. 2458 ต่อมาทรงสถาปนาขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2459 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ใน พ.ศ. 2461 พร้อมทั้งทรงขยายงานด้านประถมศึกษาให้กว้างขวางขึ้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
พระองค์ทรงริเริ่มสิ่งใหม่ให้ปรากฏในแผ่นดินหลายประการ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการวางรากฐานระบบข้าราชการพลเรือนไทยในยุคปัจจุบัน อันมาจากแนวพระราชดำริ 4 ประการ คือ
1) ให้ข้าราชการพลเรือนอยู่ในระเบียบเดียวกัน
2) ให้เลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ
3) ให้ข้าราชการพลเรือนยึดถือการเข้ารับราชการเป็นอาชีพ และ
4) ให้ข้าราชการพลเรือนมีวินัย ซึ่งจากแนวพระราชดำรินี้ ทรงร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)
พระราชกรณียกิจในการบริหารจัดการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ด้านการปกครอง ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับที่ 2 ประกาศใช้หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2475 ที่ประกาศใช้มาเป็นเวลา 14 ปี
การแก้ไขความบาดหมางระหว่างชาวไทย - จีน โดยพระองค์ได้เสด็จประพาสสำเพ็ง อย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญที่จะเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาวไทยกับชาวจีน นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญและเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไพศาล ในฐานะพระประมุขสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเอกราช โดยการเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามกองทหารสหประชาชาติพร้อมด้วยลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้เป็นการประกาศยืนยันแน่ชัดถึงสถานภาพความเป็นเอกราชของประเทศไทย สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างดียิ่ง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)
พระราชกรณียกิจของพระองค์ในระยะเริ่มแรก ทรงเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านำไปสู่การพัฒนา เน้นการเกษตรเป็นหลัก เพราะราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพกสิกรรม ทรงตระหนักว่าเกษตรกรส่วนใหญ่การศึกษาน้อย ขาดหลักวิชาสมัยใหม่ต้องเผชิญปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติน้ำ ดิน ป่าไม้ แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค พระองค์มีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรเรียนรู้เรื่องการอาชีพ มีการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ดังที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส
พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงตระหนักว่าปัญหาเกษตรกรมาจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ถูกทำลายจำนวนมาก ทรงคิดค้น ดัดแปลงปรับปรุง และแก้ไขด้วยการพัฒนาที่ดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของความเป็นอยู่ และระบบนิเวศในแต่ละภูมิภาค พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมาตลอดรัชสมัยเป็นที่ยอมรับ ทรงสร้างรูปแบบที่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาแบบยั่งยืน ผสมผสานความต้องการของราษฎรให้เข้ากับการประกอบอาชีพ โดยทรงนำพระราชดำริมาปฏิบัติจริง และสามารถพัฒนาให้เป็นทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยทรงเน้นคนเป็นศูนย์กลางตลอดมา พระองค์เป็นต้นแบบการบริหารจัดการที่ดีในทุกพระราชภารกิจ ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงเกื้อหนุนการบริหารราชการทุกรัฐบาล แนวพระราชดำริจำนวนมากที่พระราชทานให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติล้วนมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนชาวไทยมีความสุข ได้รับบริการจากรัฐอย่างทั่วถึง เข้าถึงทรัพยากรของชาติอย่างเท่าเทียมกัน และใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด
พระราชกรณียกิจในช่วงสมัยต้น ๆ เป็นลักษณะของการพัฒนาสังคม เช่น การรณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารพยาบาล การต่อสู้โรคเรื้อนของมูลนิธิราชประชาสมาสัย การจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่สำคัญยิ่งคือ งานพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวกับน้ำ ทั้งการพัฒนา การจัดหาแหล่งน้ำการเก็บกักน้ำ การระบาย การควบคุม การทำน้ำเสียให้เป็นน้ำดี ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย เช่น โครงการ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ โดยทรงใช้น้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเน่าเสียให้ออกจากแหล่งน้ำของชุมชนภายในเมืองตามคลองต่าง ๆแนวพระราชดำริด้านการเกษตรที่สำคัญ คือ “ทฤษฎีใหม่” เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ราษฎร เป็นผลให้เกิดการพัฒนาสังคมและทรัพยากรบุคคลอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสงบสุข
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชสมัยของพระองค์มีทั้งสิ้นมากกว่า 4,000 โครงการอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)
พระราชภาระสำคัญประการหนึ่งที่ทรงปฏิบัติต่อเนื่อง คือ การเสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป นอกจากจะเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรกิจการอันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ อันจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านการทหาร