Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ - Coggle Diagram
พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองนานัปการ โดยเฉพาะในด้านการสงคราม ทรงทำศึกสงครามป้องกันและขยายพระราชอาณาจักรหลายครั้ง ครั้งสำคัญในรัชกาล คือ สงครามเก้าทัพใน พ.ศ. 2328 ซึ่งได้รับชัยชนะเป็นที่เลื่องลือในยุทธวิธีการรบของกองทัพไทยที่มีกำลังพลน้อยกว่าข้าศึกที่ยกมาถึงเก้าทัพ
ด้านกฎหมายบ้านเมือง โปรดให้ชำ ระพระราชกำหนดกฎหมายให้ถูกต้องแล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกไว้ ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และพระคลัง เพื่อใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร กฎหมายนี้เรียกกันว่ากฎหมายตราสามดวง
ด้านศาสนา พ.ศ. 2331 โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนิพพานาราม(ปัจจุบัน คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) และโปรดให้ตรากฎพระสงฆ์ควบคุมสมณปฏิบัติและข้อพึงปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน รวมทั้งพระราชกำหนดกวดขันศีลธรรมข้าราชการและพลเมือง มีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระอารามทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองหลายแห่ง วัดประจำ รัชกาล คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อบ้านเมืองและราษฎรหลายด้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี เพราะวรรณคดีของชาติรุ่งเรืองมาก ทรงส่งเสริมศิลปะทุกประเภททรงพระปรีชาสามารถในงานวรรณกรรมและบทละครเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมและบทละครต่าง ๆ ที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนมาก เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (บางตอน) บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ คาวี
นอกจากนี้ พระองค์ยังสนพระราชหฤทัยด้านศิลปะการดนตรีเป็นอย่างยิ่งทรงเชี่ยวชาญและโปรดซอสามสาย พระองค์มีซอคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่ง พระราชทานนามว่า“ซอสายฟ้าฟาด” ทั้งนี้ พระองค์ยังพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน (บุหลันเลื่อนลอยฟ้าหรือ สรรเสริญพระจันทร์ บางแห่งเรียกว่า เพลงทรงพระสุบิน)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้รับการยกย่องว่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อเสวยราชย์แล้ว ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจด้วยการประหยัดรายจ่ายและเพิ่มพูนรายได้แผ่นดิน โดยการแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรแบบเดิม เช่น เปลี่ยนเก็บอากรค่านาจากหางข้าวมาเป็นเงิน ทรงตั้งภาษีอากรใหม่ อีก 38 ชนิด และทรงกำหนดระบบเจ้าภาษีนายอากรใหม่
จนทรงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมชนกนาถว่าเป็น “เจ้าสัว” เพราะทรงเชี่ยวชาญในด้านการค้ากับต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการค้ากับจีน เป็นผลให้มีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชทรัพย์ดังกล่าวนี้บรรจุไว้ในถุงแดงเก็บรักษาไว้ในพระคลังข้างที่ ต่อมาเรียกว่า “เงินถุงแดง” (ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5พ.ศ. 2436 ทรงใช้เงินถุงแดงเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องเผชิญกับการคุกคามโดยการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกรอบด้าน จึงต้องดำเนินนโยบายการเจรจาผ่อนปรนทางการทูต การทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์กับประเทศต่าง ๆ
พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการรักษาเอกราชของชาติ เพราะในรัชสมัยของพระองค์ตรงกับสมัยลัทธิจักรวรรดินิยมที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแข่งขันแสวงหาอาณานิคม พระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาที่สยามต้องยอมเปิดสัมพันธภาพกับประเทศตะวันตก โดยทำสนธิสัญญาในลักษณะใหม่ พระองค์ทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ และโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์จอห์น เบาว์ริง เข้าเฝ้าเพื่อเจรจากันเป็นการภายในแบบมิตรภาพก่อน ซึ่งเป็นที่ประทับใจของอัครราชทูตอังกฤษมากการเจรจาเป็นทางการใช้เวลาไม่นานก็ประสบความสำเร็จ อังกฤษและสยามได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ต่อกันในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 เป็นที่รู้จักกันในนามว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีมากมายเป็นอเนกประการ แต่ที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ พระราชกรณียกิจที่ทรงเลิกทาส โดยใช้วิธีผ่อนปรนเป็นระยะ พอมีเวลาให้ผู้เป็นนายและตัวทาสเองได้ปรับตัว ปรับใจทรงพระราชดำริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับ ทรงตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่คนทุกชั้นตั้งแต่เจ้านายในราชตระกูลไปจนถึงราษฎรสามัญ ในตอนกลางและตอนปลายรัชกาลของพระองค์การศึกษาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงหลายแห่งเกิดขึ้น เช่น โรงเรียนนายร้อยโรงเรียนนายเรือ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทยาลัย และโรงเรียนยันตรศึกษา เป็นต้น
พระราชกรณียกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปฏิรูประบบการเงินการคลังของประเทศและการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการเงินการคลัง ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2416 เพื่อจัดระบบรายรับของประเทศให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นกว่าแต่ก่อน ทดแทนวิธีการที่ใช้เจ้าภาษีนายอากรเป็นเครื่องมือ ทรงพระราชดำริแก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2435 โดยทรงยกเลิกระบบเสนาบดีแบบเดิม แล้วทรงแบ่งราชการเป็นกระทรวงจำนวน 12 กระทรวง ทรงแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน และเหมาะกับความเป็นไปของบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการต่อประชาชนชาวไทยและประเทศมากมาย ด้วยพระปรีชาสามารถดุจนักปราชญ์ของพระองค์โดยทรงวางแผนการพัฒนาด้านต่าง ๆ เริ่มจากการที่พระองค์มีพระราชดำริในการที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศซึ่งทรงเน้นการให้การศึกษาแก่พสกนิกรเป็นประการสำคัญ
ทรงปรับปรุงโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งตั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”เมื่อ พ.ศ. 2453 และโปรดสร้างอาคารเรียนที่อำเภอปทุมวัน เมื่อ พ.ศ. 2458 ต่อมาทรงสถาปนาขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2459 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ใน พ.ศ. 2461 พร้อมทั้งทรงขยายงานด้านประถมศึกษาให้กว้างขวางขึ้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
พระองค์ทรงริเริ่มสิ่งใหม่ให้ปรากฏในแผ่นดินหลายประการ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการวางรากฐานระบบข้าราชการพลเรือนไทยในยุคปัจจุบัน อันมาจากแนวพระราชดำริ 4 ประการ คือ
1) ให้ข้าราชการพลเรือนอยู่ในระเบียบเดียวกัน
2) ให้เลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ
3) ให้ข้าราชการพลเรือนยึดถือการเข้ารับราชการเป็นอาชีพ
4) ให้ข้าราชการพลเรือนมีวินัย ซึ่งจากแนวพระราชดำรินี้ ทรงร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)
พระราชกรณียกิจในการบริหารจัดการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ด้านการปกครอง ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับที่ 2 ประกาศใช้หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2475 ที่ประกาศใช้มาเป็นเวลา 14 ปี
การแก้ไขความบาดหมางระหว่างชาวไทย - จีน โดยพระองค์ได้เสด็จประพาสสำเพ็ง อย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญที่จะเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาวไทยกับชาวจีน นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่มีความสำคัญและเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไพศาล ในฐานะพระประมุขสูงสุดของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)
พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงตระหนักว่าปัญหาเกษตรกรมาจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ถูกทำลายจำนวนมาก ทรงคิดค้น ดัดแปลงปรับปรุง และแก้ไขด้วยการพัฒนาที่ดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของความเป็นอยู่ และระบบนิเวศในแต่ละภูมิภาค
พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมาตลอดรัชสมัยเป็นที่ยอมรับ ทรงสร้างรูปแบบที่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาแบบยั่งยืน ผสมผสานความต้องการของราษฎรให้เข้ากับการประกอบอาชีพ โดยทรงนำพระราชดำริมาปฏิบัติจริง และสามารถพัฒนาให้เป็นทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง