ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง ภาวะของสมองที่แสดงออกถึงการเสื่อมถอยด้านเชาว์ปัญญา(cognitive function) และทางด้านสติปัญญา (intellectual function) ของบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ผิดปกติทางการรับรู้ ความจำ จินตนาการ การคิดการใช้เหตุผลการคิดคำนวณ การตัดสินใจและการใช้ภาษา เมื่อการดำเนินของโรครุนแรงมากขึ้น จะพบบุคลิกภาพและระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการแสดงดังกล่าวต้องไม่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชในช่วงวินิจฉัย สาเหตุ คือ ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากการกระบวนการฝ่อตัวของเซลล์สมองซึ่งเป็นไปตามกระบวนการชราผลจากการฝ่อตัวทำให้เซลล์สมองเริ่มมีการสูญเสียหน้าที่ไปอย่างช้าๆ จะเริ่มจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของสมอง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้การดำเนินของภาวะสมองเสื่อมเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้กลุ่มยาทางจิตประสาทซึ่งจะก่อให้เกิดความสับสน โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ขาดวิตามิน บี1 บี6 และบี 12 และขาดกรดโฟลิก ภาวะน้ำเกินในโพรงสมองก่อให้เกิดการเดินที่ผิดปกติ เช่นเดินซอยเท้า ก้าวขาไม่ออก ยกขาไม่พ้นพื้น ในขั้นรุนแรงผู้ป่วยจะเดินไม่ได้มีความจำลดลงอย่างชัดเจน มีพยาธิสภาพที่สมองและเนื้องอกที่สมอง การติดเชื้อที่ขึ้นสู่สมองหลังได้รับการรักษา หลอดเลือดที่แข็งตัวก่อให้เกิดการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลงและแอลกอฮอล์ทำให้เกิดสมองเสื่อมจากหลายสาเหตุ เช่น alcoholic dementia, Wernicke-Korsakoff syndrome ปัจจัยที่ส่งเสริมภาวะสมองเสื่อมมีดังนี้ หลอดเลือด, การติดเชื้อ, สารพิษและเมตาบอลิกที่ผิดปกติ, ภูมิแพ้ตนเอง, เนื้องอกชนิดร้าย, โรคที่เกิดจากการปฏิบัติการทางการแพทย์ เช่น ยาต่างๆที่ใช้รักษาแล้วมีผลต่อสมอง เป็นต้น, การเสื่อมของเซลล์ประสาท, โรคตามระบบ เช่น โรคเรื้อรังทางอายุรศาสตร์ เป็นต้น ระยะ/อาการและอาการแสดง สามรถ 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่มต้น จะเริ่มสูญเสียความจำที่ละน้อย โดยเริ่มจากการสูญเสียความจำที่เป็นปัจจุบัน ลืมสิ่งของบ่อยขึ้น
ระยะปานกลาง จำสิ่งแปลกใหม่สถานที่หรือบุคคลใหม่ๆไม่ได้ ต่อมาจะลืมประวัติส่วนตัว การรับรู้เหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันลดลงความรู้คิดจะเริ่มสูญเสีย แสดงอาการสับสนเกี่ยวกับการรับรู้ วัน เวลา สถานที่และเรื่องสำคัญของชีวิต
ระยะสุดท้าย ระดับความรู้คิดจะสูญเสียอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถจำเหตุการณ์ใด ๆ ได้ แม้กระทั่งหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และระยะสุดท้ายของภาวะสมองเสื่อมผู้สูงอายุจะไม่รับรู้ตนเอง ไม่สามารถตอบสนองสิ่งเร้าได้ ร่างกายสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวและไม่ตอบสนองต่อการสั่งการของประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวในที่สุด