Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
สรุปสาระสำคัญ วิทย์ ป.5 เล่ม 1 - Coggle Diagram
สรุปสาระสำคัญ วิทย์ ป.5 เล่ม 1
หน่วย 1 เรียนรู้วิทยาศาสตร์
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ วิธีการและขั้นตอนที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ดำเนินการเพื่อค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) วิธีการทางวิทยาศาสตร์ 2) ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และ 3) จิตวิทยาศาสตร์
วิธีการทางวิทยาศาสตร์ คือ ขั้นตอนการทำงานอย่างเป็นระบบที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ การตั้งคำถาม การคาดคะเนคำตอบหรือตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูลหรือการทดลอง การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปผล
ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ ทักษะที่เป็นความชำนาญและความสามารถในการสืบเสาะเพื่อค้นหาคำตอบ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยนักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกเป็น 2 ขั้น ทักษะขั้นพื้นฐาน 8 ทักษะ และทักษะขั้นผสม 6 ทักษะ รวม 14 ทักษะ ซึ่งในชั้นเรียนนี้นักเรียนต้องเรียนรู้ทักษะ 3 ทักษะ คือ ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล ทักษะการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปซของวัตถุ และทักษะการสร้างแบบจำลอง
จิตวิทยาศาสตร์ คือ ลักษณะนิสัยของบุคคลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่น ความมีเหตุมีผล ความสนใจใฝ่รู้ ความมุ่งมั่น ความอดทน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความละเอียดรอบคอบ
หน่วย 2 สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มีโครงสร้างและลักษณะที่เหมาะสมในแต่ละ แหล่งที่อยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเพื่อดำรงชีวิตและอยู่รอดได้ในแต่ละแหล่งที่อยู่
สิ่งมีชีวิตจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต เช่น ความสัมพันธ์กันด้านการกินกันเป็นอาหาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัย
สิ่งมีชีวิตจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งไม่มีชีวิตเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต เช่น อากาศที่ใช้ในการหายใจ ใช้ดินและหินเป็นที่อยู่อาศัยหรือแหล่งหลบภัย
สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ต้องการพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งพลังงานนี้สิ่งมีชีวิตจะได้จากการกินอาหาร โดยในแต่ละแหล่งที่อยู่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่รวมกันจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในด้านการกินอาหาร และมีการถ่ายทอดพลังงานต่อกันเป็นทอด ๆ ในรูปแบบของโซ่อาหาร
สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงทำให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมจึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงควรมีการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ธรรมชาติเกิดความสมดุล
สิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ เมื่อโตเต็มที่จะมีการสืบพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนและดำรงพันธุ์ โดยลูกที่เกิดมาจะได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ ทำให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เฉพาะแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจะอยู่ในยีน ซึ่งยีน คือ หน่วยพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ เมื่อโตเต็มที่จะมีการสืบพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนและดำรงพันธุ์ โดยลูกที่เกิดมาจะได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ทำให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เฉพาะแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยคนเราจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับคนในครอบครัวของเรา ลักษณะต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้เป็นการถ่ายทอดลักษณะบางลักษณะจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน เรียกว่า การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งบางลักษณะจะเหมือนพ่อหรือเหมือนแม่ หรืออาจมีลักษณะเหมือนปู่ ย่า ตา ยาย และสัตว์จะมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม เช่น สีขน ลักษณะของขน ลักษณะใบหู ส่วนพืชจะมีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม เช่น ลักษณะของใบ สีดอก
หน่วย 3 แรงในชีวิตประจำวัน
แรง คือ สิ่งที่พยายามเปลี่ยนสภาพหรือทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดยมีแนวโน้มที่ทำให้วัตถุเปลี่ยนสภาพจากหยุดนิ่งให้เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนจากเคลื่อนที่อยู่แล้วเป็นหยุดนิ่ง เร็วขึ้น ช้าลง หรือเปลี่ยนทิศทาง นอกจากนี้ ยังทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลงรูปทรงและขนาดได้
แรงลัพธ์ คือ ผลรวมของแรงตั้งแต่ 2 แรงขึ้นไป ที่ร่วมกันกระทำต่อวัตถุเดียวกัน จึงมีผลทำให้วัตถุนั้นเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ไปตามผลของแรงลัพธ์
แรงเสียดทาน เป็นแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผิวสัมผัสของวัตถุสองชิ้น โดยผิววัตถุหนึ่งต้านการเคลื่อนที่ของผิววัตถุอีกผิวหนึ่ง ซึ่งแรงเสียดทานจะมีทิศตรงข้ามกับการเคลื่อนที่ของวัตถุนั้น ๆ แรงเสียดทานมีผลทำให้วัตถุที่กำลังเคลื่อนที่เกิดการเคลื่อนที่ช้าลงหรือหยุดนิ่ง แรงเสียดทานมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันหลายกิจกรรม ในการใช้ประโยชน์จากแรงเสียดทานบางกิจกรรมต้องลดแรงเสียดทาน และในบางกิจกรรมต้องเพิ่มแรงเสียดทาน
หน่วย 4 พลังงานเสียง
การได้ยินเสียงต้องต้องอาศัยตัวกลาง โดยอาจเป็นของแข็ง ของเหลว หรืออากาศ เสียงจะส่งผ่านตัวกลางมายังหู
เสียงที่ได้ยินมีระดับสูงต่ำของเสียงต่างกันขึ้นกับความถี่ของการสั่นของแหล่งกำเนิดเสียง โดยเมื่อแหล่งกำเนิดเสียงสั่นด้วยความถี่ต่ำจะเกิดเสียงต่ำ แต่ถ้าสั่นด้วยความถี่สูงจะเกิดเสียงสูง ส่วนเสียงดังค่อยที่ได้ยินขึ้นกับพลังงานการสั่นของแหล่งกำเนิดเสียง โดยเมื่อแหล่งกำเนิดเสียงสั่นด้วยพลังงานมากจะเกิดเสียงดัง แต่ถ้าแหล่งกำเนิดเสียงสั่นด้วยพลังงานน้อยจะเกิดเสียงค่อย
เสียงดังมาก ๆ เป็นอันตรายต่อการได้ยินและเสียงที่ก่อให้เกิดความรำคาญเป็นมลพิษทางเสียง เดซิเบลเป็นหน่วยที่บอกถึงความดังของเสียง