Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
การประดิษฐ์ท่ารำคู่ รำหมู่ - Coggle Diagram
การประดิษฐ์ท่ารำคู่ รำหมู่
การประดิษฐ์ท่ารำ
คือ การคิด ออกแบบหรือสร้างสรรค์ ลีลาท่ารำต่างๆนำมาเรียงร้อยเป็นแนวทางให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์ชุดการแสดงนาฏศิลป์ไทยขึ้นใหม่ การคิดประดิษฐ์ท่ารำชุดการแสดงนาฏศิลป์ไทย
ประดิษฐ์ท่ารำตามความหมายของบทร้อง ซึ่งผู้ประดิษฐ์ต้องมีความเข้าใจในความหมายของท่ารำต่างๆจึงจะสามารถวิเคราะห์เลือกสรรนำมาใช้หรือปรุงแต่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ได้ตรงกับความหมายตามหลักนาฏศิลป์ไทย เช่น ท่าเฉิดฉินใช้ในความหมายสวยงาม ท่าพรมสี่หน้าใช้ในความหมายยิ่งใหญ่ มิ่งมงคล
การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลงและทับดนตรี สำหรับเพลงที่ไม่มีบทร้องประกอบจะเป็นลักษณะการประดิษฐ์โดยการนำท่ารำมาร้อยเรียงเป็นกระบวนรำ ท่ารำที่นำมาร้อยเรียงอาจแฝงด้วยการสื่อความหมายของท่ารำที่ประดิษฐ์หรือท่ารำที่นำเสนอ เช่น เริ่มท่ารำด้วยท่าไหว้ตามท่วงทำนองเพลงเพื่อสื่อความหมายถึงการเคารพ หรือท่ารำที่แสดงลำดับขั้นตอนที่สื่อความหมายถึงการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นต้นว่า การประกอบอาชีพหาปลา เริ่มด้วยท่าพายเรื่อ เหวี่ยงแห เก็บปลา เป็นต้น
ประดิษฐ์ท่ารำโดยใช้กระบวนท่ารำประกอบบทร้องโดยมิได้มุ่งสื่อความหมายตามบทร้องเช่น บทร้องว่า ราชยาเวชยันต์รณแก้ว เพริศแพร้วกำกงอลงกต (บทร้องในเพลงระบำดาวดึงส์) ใช้ท่าสอดสูงและท่าพิสมัยเรียนหมอน เป็นต้น
แนวคิดในการประดิษฐ์สร้างสรรค์ท่ารำชุดใหม่สามารถทำได้ 2 ลักษณะ
แนวอนุรักษ์ คือ การสร้างสรรค์ท่ารำโดยกำหนดให้อยู่ในหนึ่งจารีตคือ หลักจารีตนาฏศิลป์มาสร้างสรรค์กระบวนท่ารำและองค์ประกอบอื่นๆ
แนวสร้างสรรค์แบบผสมผสาน คือ ประดิษฐ์สร้างสรรค์โดยกำหนดให้เป็นการผสมผสานหลายจารีต เช่น การผสมท่ารำไทยกับบัลเล่ต์ การรำไทยกับคอนเทมโพรารีดานซ์ เป็นต้น
หลักสำคัญในการประดิษฐ์ท่ารำเป็นหมู่
การแสดงเป็นหมู่ คือ การแสดงที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีทั้งรูปแบบการรำและการแปรแถวสวยงาม เช่น ระบำ ฟ้อน เซิ้ง ซึ่งหลักสำคัญที่ต้องคำนึงในการประดิษฐ์ท่ารำเป็นหมู่
การแปรแถว การแสดงเป็นหมู่จำเป็นที่จะต้องมีการแปรแถวที่สวยงาม ในสมัยก่อนไม่นิยมแปรแถวให้หลากหลาย มักจะแปรแถวเป็นแถวตรง แถวเรียงหน้ากระดาน หรือแถวตอนคู่ หรือการแปร แถวเป็นวงกลม ต่อมามีวิวัฒนาการในการประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้มีการแปรแถวในลักษณะต่างๆที่หลากหลาย เช่น แถวปากพนัง แถววีคว่ำ แถวสลับฟันปลา การตั้งซุ้ม เป็นต้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความกลมกลืนของท่ารำเป็นสำคัญด้วย
ท่ารำที่ใช้ประกอบในการแสดงจะต้องมีความสอดคล้องกับเนื้อหา หรือการแสดงบางชุดไม่มีเนื้อร้องแต่การบรรเลงก็ให้ยึดทำนองเพลงเป็นหลัก การร่ายรำจะต้องลงตรงตามจังหวะและสื่ออารมณ์ตามทำนองเพลง เช่น อารมณ์สนุกสนาน คึกคัก อารมณ์เศร้า เป็นต้น
การแสดงเป็นหมู่ผู้แสดงจะต้องมีความพร้อมเพรียงกัน การแสดงไม่ควรเน้นที่ความสำคัญของท่ารำจนเกินไป
ท่ารำที่ใช้ในการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมือง จำต้องเน้นถึงลักษณะเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ภาคเหนือมีลีลาจังหวะที่นุ่มนวลอ่อนช้อย ภาคอีสานมีจังหวะที่รวดเร็วสนุกสนาน เป็นต้น
การแสดงเป็นหมู่ ควรพิจารณาจากสิ่งต่างๆ
การแปรแถว เป็นการเคลื่อนไหวของผู้แสดงจำนวนมากเพื่อให้การแสดงรูปแบบต่างๆมีความพร้อมเพรียง เห็นความสามารถของผู้แสดงและควรมีท่าจบสวยงาม
ดนตรีและบทขับร้อง ควรใช้ดนตรีและบทขับร้องที่เหมาะสมกับการแสดง เพื่อให้การแสดงสวยงามและมีคุณค่า
รูปร่างลักษณะของผู้แสดง ควรมีความสูงและรูปร่างใกล้เคียงกัน แต่บางชุดการแสดงอาจ เรียงลำดับจากผู้แสดงที่ตัวเตี้ยไปตัวสูง หรือตัวเล็กไปตัวใหญ่
การแต่งกาย เครื่องแต่งกายต้องมีความสวยงาม เหมาะสมกับผู้แสดงและชุดการแสดงเรียงลำดับสีชุดให้สวยงาม (ถ้าชุดเป็นชุดสี)
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง เช่น ดอกไม้ โคม พัด จะต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงให้มีความสวยงามอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรฝึกซ้อมใช้อุปกรณ์ในการแสดงให้เกิดความคุ้นเคย เพื่อให้การแสดงเกิดความสวยงามและพร้อมเพรียงกัน
ความสามารถในการำ การแสดงควรจัดเป็นหมู่ จำนวนผู้แสดงอาจเป็นจำนวนคู่ หรือจำนวนคี่ก็ได้ โดยดูจากความเหมาะสมของเวที สถานที่ที่ใช้ในการแสดง ความสามารถในการรำควรใกล้เคียงกัน และเน้นความพร้อมในการรำเป็นสำคัญ
หลักสำคัญในการประดิษฐ์ท่ารำเป็นคู่
รำคู่ คือ การแสดงที่มีผู้แสดงเพียงสองคน ในหลักนาฏศิลป์จะกำหนดให้มีทั้งรูปแบบของรำปละระบำ การรำคู่พระ-นาง หรือการรำคู่ที่เป็นพระคู่หรือนางคู่ เช่น ปะเลง รำกิ่งไม้เงินทอง รำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง รำอวยพร เป็นต้น หลักสำคัญที่ใช้ในการประดิษฐ์ท่ารำเป็นคู่
การกำหนดรูปแบบในการแสดง การประดิษฐ์ท่ารำจะต้องมีความสำพันธ์สอดคล้องกันไม่ใช่ต่างคนต่างรำ
การแสดงออกของลีลาท่ารำจะต้องตรงตามจังหวะและทำนองเพลง
การประดิษฐ์ท่ารำต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามแบบแผนและความหมาย เช่น ท่าแสดงความชื่น ชมยินดี ต้องใช้มือซ้ายจีบปาก ท่าที่สื่อความหมายถึงตัวเราใช้มือซ้ายจีบเข้าที่อก ถ้าใจใช้มือขวาต้องใช้การชี้นิ้วที่อก เป็นต้น
การร่ายรำตีบทจะต้องสอดคล้องกับบทที่แสดงมา สื่อความหมายได้ชัดเจน และควรหลีกเลี่ยง การใช้ท่ารำที่ซ้ำกัน
การแต่งกายของการรำคู่แบบยืนเครื่อง หากแต่งกายแบบพระ-นาง ต้องใช้สีตามหลักของการแสดง เช่น พระแต่งกายสีแดง นางแต่งกายสี่เขียวคู่กัน เป็นต้น
การแสดงนาฏศิลป์เป็นคู่ ควรพิจารณาจากสิ่งต่างๆ
ดนตรีและบทร้อง มีความไพเราะเหมาะสมกับชุดการแสดง
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง จะต้องมีความเหมาะสมกับชุดการแสดง เช่น การแสดงรำกิ่งไม้เงินทอง มือต้องมีกิ่งไม้เงินทอง เป็นต้น
รูปร่างลักษณะของผู้แสดง โดยพิจารณาให้เหมาะสมกัน เช่น รำคู่พระ-พระ หรือคู่นาง-นาง ควรให้มีความสูง รูปร่าง และใบหน้าที่เหมาะสมกัน แต่ถ้าเป็นคู่พระ-นาง ตัวพระจะต้องมีรูปร่างสูงกว่าตัวนาง ยกเว้นในกรณีที่เป็นการรำแบบไล่จับกัน ตัวพระและตัวนางมีรูปร่างใกล้เคียงกันได้ เช่น พระลอตามไก่ พระรามตามกวาง เป็นต้น
การแต่งกายควรเหมาะสมกับผู้แสดง ชุดการแสดงและสถานที่
ความสามารถในการรำ ควรเลือกผู้ที่มีลีลาท่ารำที่มีความเหมาะสม มีความสามารถใกล้เคียงด้านลีลา ท่ารำ การเคลื่อนไหว
คุณสมบัติของผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
มีความรู้ด้านการฟ้อนรำและมีความเข้าใจความหมายของท่ารำตามหลักของนาฏศิลป์ไทย
ช่างสังเกต จดจำ และหมั่นสั่งสมประสบการณ์เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการสร้างสรรค์
เปิดใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นหรือคำติชมผู้อื่น
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ และเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง