Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
พัฒนาการของวัยแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ - Coggle Diagram
พัฒนาการของวัยแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ
วัยทารก
ด้านร่างกาย
ในระยะแรกคลอดทารกจะมีน้ำหนักตัวลดลง แต่เมื่อปรับตัวได้ดีขึ้นน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะแรกเกิดถึง 6 เดือน หลังจาก 6 เดือนไปแล้วอัตราการเพิ่มของน้ำหนักจะลดลง ความสูงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเคลื่อนไหวของทารกในระยะแรกคลอด ทารกจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ การเคลื่อนไหวเป็นไปในลักษณะปฏิกิริยาสะท้อน เช่น การดูด การกางนิ้วเท้าเมื่อถูกลูบเท้าเบาๆ การผวาเมื่อได้ยินเสียงดังๆ เป็นต้น ปฏิกิริยาสะท้อนนี้จะหายไปเมื่อทารกอายุประมาณ 6 เดือน เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เริ่มพัฒนาสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น โดยการพัฒนาของกล้ามเนื้อจะเริ่มจากศีรษะ ลำตัว แขนขา และนิ้วตามลำดับ สัดส่วนและขนาดร่างกายส่วนต่างๆของทารก ในระยะแรกเกิด จะเป็นลักษณะศีรษะโต กว่าลำตัว เมื่ออายุได้ 1 ปี ศีรษะกับลำตัวจะมีขนาดเท่ากัน จนกระทั่งอายุ 5 ปี ลำตัวจึงจะโตกว่าศีรษะ การทำงานของอวัยวะต่างๆ จะเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการคลอดออกมา เช่น การทำงานของต่อมเหงื่อ เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย ประสาทสัมผัสต่างๆ ได้แก่ การรู้รส การได้กลิ่น การได้ยิน และการเห็น จะพัฒนาขึ้นจนช่วยให้เด็กแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นเป็นลำดับ ระบบย่อยอาหารพัฒนาดีขึ้น โดยทารกจะเริ่มกินอาหารที่มีความข้น และ แข็งขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถกินอาหารได้เหมือนผู้ใหญ่
ด้านอารมณ์
ในระยะแรกคลอดทารกจะมีอาการตื่นเต้น ไม่แจ่มใสและชื่นบานสลับกันไป ซึ่งแยกได้ลำบาก ต่อมาอารมณ์จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามวุฒิภาวะและการเรียนรู้อาการที่แสดงออกทางอารมณ์ของทารกวัยนี้ ทำให้เห็นได้ว่าทารกวัยนี้อารมณ์โกรธ กลัว อิจฉาริษยา อยากรู้อยากเห็น ดีใจ และรัก เช่น การส่งเสียงร้องเมื่อไม่พอใจ การถอยหนีหรือการร้องเมื่อเห็นคนแปลกหน้า การเรียกร้องความสนใจเมื่อผู้ใหญ่ให้ความสนใจน้องที่เกิดใหม่หรือคนอื่นๆ มากกว่าตนเอง การรื้อค้นสิ่งของต่างๆการหัวเราะโอบกอดพ่อแม่หรือคนที่คุ้นเคยเป็นต้น
ด้านสังคม
หลังจากที่ทารกคลอดได้ 2-3 สัปดาห์ จะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นหู เช่น เสียงของแม่หรือคนเลี้ยง พออายุได้ 6 เดือน ทารกจะเริ่มแยกคนที่คุ้นเคยกับคนที่แปลกหน้าได้ การได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่น ค่อยเป็นค่อยไปและได้รับความสนุกสนานไปด้วยจะทำให้มีปฏิกิริยาที่ดีกับคนแปลกหน้า
ด้านสติปัญญา
พัฒนาการทางสติปัญญาของทารกมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของประสาทสัมผัสกับการรับรู้และการเคลื่อนไหว เพราะกลไกเหล่านี้ทำให้ทารกสามารถรับรู้รู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ความสมบูรณ์ของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ทำให้ทารกสามารถเปล่งเสียงได้ถูกต้องและนำไปสู่การพัฒนาการทางการพูด การจดจำและรู้ความหมายของคำต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
วัยก่อนเรียน
ด้านร่างกาย
วัยนี้อัตราการเจริญเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด สัดส่วนของร่างกายจะเปลี่ยนจากลักษณะของทารกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแขนและขาจะยาวออกไป ศีรษะจะได้ขนาดกับลำตัว ไหล่กว้าง มือและเท้าใหญ่ขึ้น โครงกระดูกแข็งขึ้น กล้ามเนื้อเติบโตและแข็งแรงขึ้น ในตอนปลายในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายได้ดีขึ้น เช่น รู้จักกินข้าว แต่งตัว ใส่รองเท้าและอาบน้ำ หวีผมได้เอง ในระยะ 3-4 ปี จะเริ่มเดินได้อย่างมั่นคง ต่อจากนั้นก็จะสนใจการวิ่ง กระโดด ห้อยโหน ในระยะนี้จึงสามารถหัดถีบจักรยานสามล้อ กระโดดเชือกและการฝึกการรำได้แล้วเป็นต้น
ด้านอารมณ์
เด็กวัยนี้มักจะเป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดโมโหง่าย โมโหร้ายอย่างไม่มีเหตุผล มักขัดขืนและดื้อรั้นต่อพ่อแม่อยู่เสมอ เมื่อเด็กได้คบค้าสมาคมกับเพื่อนๆ อาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไป นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับอารมณ์เลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นสำคัญอีกด้วย เด็กวัยนี้มักแสดงอาการโกรธด้วยการร้องไห้ ทุบตีสิ่งกีดขวาง ทิ้งตัวลงนอน ถ้ารู้สึกตัวก็จะวิ่งหนี หลบซ่อนตัว เด็กบางคนที่มีน้องใหม่อาจอิจฉาน้องก็จะแสดงออกคล้ายๆ กับเวลาเด็กโกรธหรืออาจมีพฤติกรรมถอยกลับไปเหมือนตอนยังเล็กอยู่ เช่น ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น ลักษณะเด่นอีกอย่างของเด็กวัยนี้ คือ เด็กมักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ และมีคำถามต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของเด็กวัยนี้ นอกจากนี้เด็กได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างสม่ำเสมอจะเป็นเด็กอารมณ์ดี ร่าเริงแจ่มใส หัวเราะและยิ้มง่าย และมักแสดงความรักอย่างเปิดเผยด้วยการโอบกอด
ด้านสังคม
เด็กวัยนี้เริ่มรู้จักคบเพื่อนและเล่นกับเพื่อนได้ดีขึ้น เด็กเริ่มรู้จักกากรปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ซึ่งจะแสดงออกโดยการให้ความร่วมมือ การยอมรับฟัง การแสดงความเป็นผู้นำ เด็กจะเริ่มรู้จักการแข่งขันเมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี เป็นต้นไป โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างกลุ่ม เด็กที่มีพี่น้องหลายคนมักจะทะเลาะเบาะแว้งกัน สาเหตุมักมาจาการแย่งของเล่นและลักษณะดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเมื่อเด็กเติบโตขึ้น ความกล้าแสดงออกทางการคบเพื่อนหรือการพูดจาของเด็กขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูทางครอบครัวมาก นั่นคือ ถ้าภายในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เด็กมักจะรู้สึกกล้าและมีความมั่นคงในการเข้าสังคมนอกบ้าน เป็นต้น นอกจากนั้น เด็กวัยนี้ยังชอบรวมกลุ่มกับเพศเดียวกัน และมักเปลี่ยนเพื่อนเล่นไปเรื่อยๆ
ด้านสติปัญญา
ในวัยนี้เด็กจะรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากและเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นได้ดี เด็กจะแสดงความฉลาดของตนเองออกมาโดยการพูดโต้ตอบกับผู้ใกล้ชิด ซึ่งเรื่องที่พูดก็มักจะเป็นเรื่องของตนเองและคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับตน เด็กวัยนี้จะมีความจำดีและในช่วงปลายวัยถ้าได้รับการฝึกหัดให้อ่านและเขียนหนังสือ เด็กก็สามารถจะทำได้ดีด้วย
วัยเรียน
ด้านร่างกาย
ในช่วงวัยนี้อัตราการเจริญเติบโตจะลดน้อยลงเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายของเด็กจะขยายออกทางส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง ลำตัวแบน แขนยาวออก อวัยวะย่อยอาหารและระบบหมุนเวียนของเลือดเจริญเกือบเต็มที่ แต่หัวใจยังเจริญช้ากว่าอวัยวะเหล่านั้น มีฟันแท้ขึ้นแทนฟันน้ำนมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฟันหน้ามักขึ้นก่อนฟันกรามโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกันให้ฟันหน้าซี่อื่นๆ ขึ้นถูกต้องตามตำแหน่งของมัน สมองมีน้ำหนักสูงสุด มีกระดูกข้อมือ 6-7 ชิ้น ยังไม่เจริญเต็มที่ ลักษณะของตายังไม่เจริญสูงสุด สายตายังเป็นสายตายาวอยู่ การเคลื่อนไหวประสานกันไม่ดีเต็มที่ เพราะพัฒนาการของกล้ามเนื้อไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อตาของเด็กหญิงมักจะพัฒนาได้เร็วกว่าเด็กชาย เด็กวัยนี้มีพลังมากจึงไม่อยู่นิ่ง ชอบทำกิจกรรมและชอบทำอย่างรวดเร็ว ไม่ค่อยมีความระมัดระวังมากนัก ทำให้ประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ ต่อมาเมื่อเด็กอายุอยู่ในช่วง 9-10 ปี การเจริญเติบโตจะมีฟันเขี้ยวที่ 1 และเขี้ยวที่ 2 ขึ้น เมื่อเด็กมีอายุ 10 ปีขึ้นไป การเจริญเติบโตจะเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งส่วนสูงและน้ำหนัก เด็กหญิงจะโตกว่าเด็กชาย ทั้งด้านร่างกายและวุฒิภาวะ ประมาณ 1-2 ปี โดยพบว่าเด็กหญิงจะปรากฏลักษณะเพศขั้นที่สองขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ ตะโพกผายออก ทรวงอกเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงไป จึงมักทำอะไรงุ่มง่าม เก้งก้าง นอกจากนี้เด็กหญิงจะเริ่มมีประจำเดือนระหว่างอายุประมาณ 11-12 ปี ส่วนเด็กชายไหล่กว้างขึ้น มือและเท้าใหญ่ขึ้น เริ่มมีการหลั่งอสุจิระหว่างอายุ 12-16 ปี ซึ่งเป็นการแสดงว่าวุฒิภาวะทางเพศเริ่มเจริญเต็มที่
ด้านอารมณ์
เด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์มาก เพราะเด็กจะปรับตัวจากสภาพแวดล้อมเดิมที่บ้านไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ที่โรงเรียน อารมณ์กลัวจะเปลี่ยนไปจากการกลัวสิ่งที่ไม่มีตัวตน สัตว์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มากลัวสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง เช่น กลัวความอดอยาก กลัวไม่มีเพื่อน กลัวเรียนไม่ดี เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังต้องการเป็นที่หนึ่งหรือเป็นคนแรก ต้องการแสดงตนให้เป็นที่ชื่นชมของหมู่คณะ เด็กวัยนี้จะมีสำนึกว่าการอยู่ร่วมกับคนอื่นเดือดร้อนและรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น ในช่วงปลายของวัยนี้ คือช่วงอายุประมาณ 10-12 ปี เด็กจะเปลี่ยนวิธีแสดงอารมณ์โกรธจากการต่อสู้เป็นการโต้ตอบด้วยคำพูด สิ่งที่เด็กวัยนี้กลัวมากที่สุดคือ กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ไม่ต้องการเด่นหรือด้อยกว่าคนอื่น เด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกเร็วและง่าย จนบางครั้งทำให้รู้สึกขัดแย้งทางอารมณ์ขึ้น ในระยะการเปลี่ยนแปลง ความกลัวจะค่อยเปลี่ยนเป็นความกังวลในเรื่องรูปร่างของตน อยากเป็นคนแข็งแรงและสวยงาม กังวลว่าจะเกิดอันตรายกับตนเองและครอบครัวเป็นต้น
ด้านสังคม
เมื่อเด็กเริ่มต้นไปโรงเรียน อาจมีปัญหาในการคบเพื่อนบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเด็ก แต่เมื่อได้อยู่ร่วมและเล่นกีฬากับเพื่อนๆ เด็กจะค่อยๆ ยอมรับฟังและยอมทำตามความคิดของคนอื่น เด็กชายจะชอบกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวทั้งตัว ส่วนเด็กหญิงจะชอบกิจกรรมที่ไม่ค่อยใช้กำลัง ในระยะตอนปลายของวัยนี้ เด็กจะให้ความสำคัญกับกลุ่มมาก จะรู้จักเป็นเจ้าของและซื่อสัตย์ต่อกลุ่ม เลือกคบเพื่อนที่มีอารมณ์คล้ายคลึงกันและต้องการเพื่อนที่ไว้ใจได้ ชอบเล่นกับเพื่อนเป็นหมู่มากกว่าเล่นกับวัตถุ เด็กชายชอบเล่นกีฬาที่ใช้กล้ามเนื้อและกีฬาที่มีกฎเกณฑ์ เด็กหญิงชอบเล่นอยู่กับเพื่อนสนิท 2-3 คน และเนื่องจากเด็กหญิงมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าเด็กชาย จึงเริ่มสนใจเพื่อนต่างเพศเร็วกว่า รู้จักแต่งตัวมากขึ้นและสนใจเรื่องราวของเด็กชาย
ด้านสติปัญญา
ในระหว่างวัย 7 ปี พัฒนาการทางภาษาของเด็กเจริญเร็วขึ้นรวดเร็ว รู้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น ใช้ภาษาพูดแสดงความคิดความรู้สึกได้อย่างดี ความรู้สึกทางด้านจริยธรรมเริ่มพัฒนาการในระยะนี้ มีความรับผิดชอบได้บ้างแล้ว เริ่มสนใจสิ่งถูกสิ่งผิด สนใจเรื่องราวต่างๆ แต่ยังมีมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงความจริงอาจหยิบสิ่งของของผู้อื่นมาโดยไม่ได้ตั้งใจจะขโมยมาก็ได้ เมื่อพ้นระยะนี้เด็กจะมีประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีสิ่งยั่วยุให้มีกิจกรรมทางสมองหลายประการ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพการ์ตูน เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญของเด็กวัย 8 ปี เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ เด็กจะชอบการอ่านมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ เรื่องเด็ก เรื่องการผจญภัยและตลกขบขัน วัยนี้เข้าใจเรื่องเวลาดีขึ้น สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่างเวลากับกิจวัตรประจำวันได้ เช่น รู้เวลากินอาหาร รู้เวลาโรงเรียนเข้า รู้เวลานอน แต่มีความรับผิดชอบที่จะนอนเองหรือตื่นเอง เข้าใจการประหยัด เช่น เก็บเงินค่าขนมที่ตนเองอยากได้ ความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัยได้เช่นเดียวกับความสามารถด้านอื่นๆ เด็กวัยนี้จะสนใจสิ่งแปลกๆใหม่ๆ ที่มีสีสันสะดุดตา สนใจสัตว์เลี้ยง ภาพระบายสี ในช่วงปลายของเด็กวัยนี้เด็กจะเปลี่ยนความสนใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัย วิทยาศาสตร์ เรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเรื่องของเด็กวัยเดียวกัน พัฒนาการทางสติปัญญาที่เห็นได้ชัดคือ จินตนาการสูงขึ้น เพราะได้รับรากฐานจากการอ่าน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดที่จะทำและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นงานอดิเรกและกิจกรรมในชั้นเรียน
วัยรุ่น
ด้านร่างกาย
วัยรุ่นจะมีอัตราการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างรวดเร็วมาก อวัยวะเพศทั้งภายนอกและภายในเจริญเติบโตเกือบเต็มที่แล้ว มีการเจริญเติบโตและพัฒนาเข้าสู่วุฒิภาวะทางเพศคือมีความพร้อมที่จะเป็นพ่อเป็นแม่คนได้แล้ว ทั้งนี้ เพราะต่อมไร้ท่อต่างๆ ผลิตฮอร์โมนซึ่งทำให้ร่างกายเจริญเติบโต โดยเฉพาะส่วนสูงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ในตอนต้นๆเด็กหญิงจะมีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กชายและจะเท่ากันเมื่ออายุย่างเข้าช่วงปลายๆ ลักษณะทางเพศภายนอกปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น คือในเพศหญิงจะมีเต้านมขยายใหญ่ เอวคอดลง สะโพกผาย มีขนที่อวัยวะเพศ มีประจำเดือนครั้งแรก ในเพศชายเสียงห้าวขึ้น ไหล่ขยายกว้าง มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ปรากฏให้เห็น อัณฑะสามารถผลิตอสุจิได้แล้ว
ด้านอารมณ์
วัยรุ่นเป็นช่วงที่มีอารมณ์รุนแรงและแปรเปลี่ยนได้ง่าย เช่น ในขณะที่มีอารมณ์ร่าเริงอยู่ จู่ๆก็อาจซึมเศร้าหรือหงุดหงิด โกรธง่ายเมื่อถูกขัดใจ และมักแสดงอาการก้าวร้าว โดยปกติวัยนี้เป็นวัยที่ร่าเริงและจะทำกิจกรรมต่างๆที่ตนเองสนใจด้วยความสุข ถ้าเมื่อใดไม่มีอิสระที่จะทำอะไรได้ตามใจก็มักเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เด็กวัยรุ่น จะมีความคิดเป็นของตนเอง และรู้สึกว่าตนเองโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงอยากทำอะไรตามความต้องการของตนเอง ทำให้มักเกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้บ่อยๆ
ด้านสังคม
ในช่วงวัยรุ่นนี้ เด็กมักจะชอบแยกตัวอยู่ตามลำพังเมื่ออยู่ในครอบครัวเพราะต้องการความอิสระส่วนสังคมภายนอกเด็กจะมีเพื่อนทั้งสองเพศและกลุ่มเพื่อนจะเล็กลง การคบเพื่อนของวัยรุ่นจะมีเหตุผลมากขึ้น ชอบทำตัวเลียนแบบบุคคลอื่นที่ตนเองชื่นชอบ เช่น การแต่งกายตามอย่างดาราหรือนักร้องที่ตนชอบ บางครั้งชอบทำตัวแปลกๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ เมื่อเข้าสูช่วงปลายของวัยจะเริ่มต้องการความตัวของตัวเองมากขึ้น อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนจะน้อยลง รู้จักควบคุมดพฤติกรรมของตนเองและเริ่มมีพฤติกรรมที่แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน คบเพื่อนต่างเพศ เป็นต้น
ด้านสติปัญญา
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความคิดเป็นนามธรรมมากขึ้น รู้จักสังเกตและปรับปรุงข้อบกพร่องของตนเอง ต้องการทำอะไรด้วยตนเองเพื่อหาประสบการณ์ สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าที่จะลองถูกลองผิด จึงทำให้มีการพัฒนาทางด้านสติปัญญากว้างมากขึ้น เพราะเด็กได้ลงมือทำเอง ได้พบกับปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และถ้าทำสำเร็จเด็กก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ วัยนี้เด็กจะมีเหตุผลมากขึ้น สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความรู้สึกของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจ รู้จักสังเกตความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง
วัยผู้ใหญ่
ด้านร่างกาย
บุคคลในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีการพัฒนาทางร่างกายอย่างเต็มที่ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ร่างกายสมบูรณ์ มีการพัฒนาความสูงมาจากวัยรุ่นและจะมีความสูงที่สุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นนี้ รวมทั้งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมัน มีการพัฒนาอย่างเต็มที่เช่นกัน เมื่อเพศชายอายุประมาณ 20 ปี ไหล่จะกว้าง มีการเพิ่มขนาดของต้นแขนและมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น ในเพศหญิงเต้านมและสะโพกมีการเจริญเต็มที่ ในวัยนี้ร่างกายจะมีพลัง คล่องแคล่วว่องไว การรับรู้ต่าง ๆ จะมีความสมบูรณ์เต็มที่ เช่น สายตา การได้ยิน ความสามารถในการดมกลิ่น การลิ้มรส จนกระทั่งเข้าสู่วัยกลางคนความสามารถต่าง ๆ เหล่านี้จะลดลง
ด้านอารมณ์
วัยผู้ใหญ่จะมีการควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีความมั่นคงทางจิตใจดีกว่าวัยรุ่น คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น รู้สึกยอมรับผู้อื่นได้ดีขึ้น มีพัฒนาการด้านอารมณ์รัก (Love) ได้ในหลายรูปแบบ เช่น รักแรกพบ (Infatuation) หรือรักแบบโรแมนติก (Romantic love) ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นนี้จะมีความรู้สึกแตกต่างจากในวัยรุ่น โดยจะมีความรู้สึกที่จะปรารถนาใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน (Sternberg, 1985 cited in Papalia and Olds, 1995) มีการใช้กลไกทางจิตชนิดฝันกลางวัน (Fantacy) การเก็บกด (Impulsiveness) น้อยลง แต่จะใช้การตอบสนองด้วยเหตุผลทั้งกับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น (ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต, 2541)
ด้ายสังคม
ทฤษฎีพัฒนาบุคลิกภาพของอิริคสัน วัยผู้ใหญ่ตอนต้นอยู่ในขั้นพัฒนาการขั้นที่ 6 คือความใกล้ชิดสนิทสนมหรือการแยกตัว (intimacy and solidarity vs. isolation) สังคมของบุคคลวัยนี้คือ เพื่อนรัก คู่ครอง บุคคลจะพัฒนาความรัก ความผูกพัน แสวงหามิตรภาพที่สนิทสนม หากสามารถสร้างมิตรภาพได้มั่นคง จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจและนับถือซึ่งกันและกัน ตรงข้ามกับผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถสร้างความสนิทสนมจริงจังกับผู้หนึ่งผู้ใดได้จะมีความรู้สึกอ้างว้างเดียวดาย (isolation) หรือเป็นคนที่หลงรักเฉพาะตนเอง (narcissism)
วัยนี้จะให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนร่วมวัยลดลง จำนวนสมาชิกในกลุ่มเพื่อนจะลดลง แต่สัมพันธภาพในเพื่อนที่ใกล้ชิดหรือเพื่อนรักยังคงอยู่และจะมีความผูกพันกันมากกว่าความผูกพันในลักษณะของคู่รักและพบว่ามักเป็นในเพื่อนเพศเดียวกัน (Papalia and Olds, 1995) การสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มใช้ชีวิตครอบครัวกับคู่ของตนเอง และเกิดการปรับตัวกับบทบาทใหม่
ด้านสติปัญญา
พัฒนาการทางความคิดตามแนวคิดของเพียเจท์ (Piaget’ s theory) (Papalia and Olds, 1995) กล่าวว่าวัยผู้ใหญ่มีพัฒนาการทางความคิดสติปัญญาอยู่ในระดับ Formal operations ซึ่งเป็นขั้นสูงที่สุดของพัฒนาการ มีความสามารถทางสติปัญญาสมบูรณ์ที่สุดคือคุณภาพของความคิดจะเป็นระบบ มีความสัมพันธ์กันและมีความคิดรูปแบบนามธรรม (Abstract logic) ผู้ใหญ่จะมีความคิดเปิดกว้าง ยืดหยุ่นมากขึ้น และรู้จักจดจำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี และได้มีผู้สำรวจศึกษาหลายคนที่เห็นว่าความคิดของผู้ใหญ่ นอกจากจะเป็นความคิดในการแก้ไขปัญหาดังที่เพียเจท์กล่าวไว้แล้ว ยังมีลักษณะของความคิดสร้างสรรค์และค้นหาปัญหาด้วย (พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์, 2530 อ้างถึงในทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต, 2541) จึงมีผู้วิจารณ์อย่างมากว่าอาจจะอยู่ในระดับ postformal thought มากกว่า ทำให้มีผู้เชื่อว่าแนวคิดของเพียเจท์ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับอีกต่อไป (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2538 )
วัยสูงอายุ
ด้านร่างกาย
เซลล์ต่างๆเริ่มตายและมีเซลล์ใหม่เกิดทดแทนได้น้อยและเชื่องช้า ร่างกายสึกหรอ บุคลิกภาพเสีย เช่น หลังโกง ผมหงอก ฟันหลุดร่วง ตาฝ้าฟาง หูตึง ผิวหนังเหี่ยวย่น กล้ามเนื้อหย่อนยาน บางรายมือ
เท้าสั่น การทรงตัวไม่ดี ถ้ามีการเจ็บป่วยจะรักษาลำบากกว่าวัยอื่น แม้หายจากโรคแล้ว ถึงจะบำรุงอย่างไร ก็เจริญได้ไม่เหมือนเดิม
ด้านอารมณ์
บุคคลวัยนี้มักจะชอบบ่น อารมณ์ไม่คงที่ โกรธง่าย แต่บางรายใจดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สิ่งแวดล้อม สังคม และประสบการณ์ที่ผ่านมา และขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวด้วย ความพอใจของคนวัยชรา
เป็นจำนวนมากเกิดจากมิตรภาพและการได้มีโอกาสช่วยเหลือ การบริจาคเงินเพื่อสาธารณะกุศลต่างๆ
ด้านสังคม
บุคคลวัยนี้ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องวัด ธรรมะธัมโม ใจบุญสุนทาน บางรายสละเพศเข้าสู่บรรพชิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม บางรายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจบังคับให้ไม่สามารถทำตามที่ใจปรารถนาได้ ต้องหา
เลี้ยงชีพหรือได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กๆจึงกลายเป็นที่พึ่งและเพื่อนเล่นของลูกหลาน มีความสุขและเพลิดเพลินไปกับลูกหลานตัวเล็กๆ
ด้านสติปัญญา
บุคคลวัยนี้มักจะมีความคิดอ่านที่ดี สุขุมรอบคอบ แต่ขาดความคิดริเริ่ม มักยึดถือหลักเกณฑ์ที่ตนเองเชื่อ หลงลืมง่าย ความจำเลอะเลือน ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นไปได้ยากมาก