ละครดึกดำบรรพ์ เป็นการแสดงละครแบบหนึ่งในประเภทละครรำเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5เนื่องมาจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเจ้านายชาวต่างชาติเข้าเข้าเฝ้าอยู่หลายครั้ง จึงโปรดให้มีการละเล่นให้แขกบ้านแขกเมืองได้รับชม โดยเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ได้คิดการแสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตโดยเนื้อเรื่องตัดตอนมาจากวรรณคดีไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเลือกเพลงและอำนวยการซ้อม จึงถือว่าการแสดงในครั้งนั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของละครดึกดำบรรพ์ ต่อมาภายหลังเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ได้มีโอกาสชมละครโอเปร่า จึงเกิดความชอบใจและนำปรับปรุงให้เข้ากับละครดึกดำบรรพ์ของไทย ละครดึกดำบรรพ์ที่นิยมเล่นได้แก่เรื่อง สังข์ทอง คาวี ฯลฯ การแสดงละครดึกดำบรรพ์แสดงในโรงปิดขนาดเล็ก ดนตรี ประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ดัดแปลงมาจากวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ระนาดเอกไม้นวม ระนาดทุ้ม(ไม้) ระนาดเหล็กทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องหุ่ย ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ ตะโพน กลองตะโพน กลองแขก และฉิ่ง