Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ - Coggle Diagram
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ
ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)
ผู้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) และเป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ผลการศึกษาของฟรอยด์สรุปได้ว่า บุคลิกภาพและการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นถูกกำหนดโดยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซุปเปอร์อีโก้ (Superego)
อีโก้ (Ego)
คือ พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกมาโดยอาศัยหลักเหตุผล และความเหมาะสม อีโก้จะเป็นสิ่งที่คอยสกัดกั้นอิด คอยจัดการควบคุมดูแลบุคลิกภาพและการแสดงออกของบุคค
ซุปเปอร์อีโก้ (Superego)
คือ ความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมโนธรรมภายในจิตใจของบุคคล เป็นหลักที่เป็นอุดมคติ ทั้งในด้าน ศีลธรรม จริยธรรม และการประพฤติปฏิบัติของคน
อิด (Id)
คือ แรงผลักดันที่มาจากสัญชาติญาณพื้นฐานดั้งเดิมของบุคคล ที่ได้รับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์เมื่อแรกเกิด และรวมทั้งสัญชาติญาณที่ขาดเหตุผล
อธิบายลักษณะบุคลิกภาพของฟรอยด์ สรุปได้ 3 แบบ
แบบอีโรติค (Erotic Type)
เป็นบุคลิกลักษณะของคนที่ให้ความสำคัญกับความรัก ต้องการได้รับความรัก ความเอาใจใส่
แบบหลงใหลตนเอง(Narcissistic Type)
เป็นบุคลิกลักษณะของคนที่บูชาตนเอง คือ มุ่งเน้นที่จะทำให้ตนเองสมปรารถนา ได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้นจึงมีซุปเปอร์อีโก้ในระดับน้อยมาก คนกลุ่มนี้ไม่ขึ้นอยู่กับใคร และไม่ให้ใครมาครอบงำได้ง่าย ๆ มีความตั้งใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างแข็งขันและกระตือรือร้น
แบบครอบงำ (Obsessive Type)บุคลิกลักษณะแบบครอบงำ คือ คนที่มีซุปเปอร์อีโก้ในระดับสูงมาก และตีกรอบตัวเองให้อยู่ภายใต้มโนธรรมภายในจิตใจ ทั้งในด้าน ศีลธรรม จริยธรรม และการประพฤติปฏิบัติตนที่อยู่ภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ
คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung)
คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิทยาชาวสวิสผู้ก่อตั้งทฤษฎีจิตวิทยาการวิเคราะห์ (Analytical Psychology) ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ จุงมีแนวคิดว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากอดีตมาแสดงออกเป็นพฤติกรรม โดยมีแนวคิดพื้นฐาน คือ จิตสำนึก (Consciousness) และ จิตไร้สำนึก (Unconsciousness)
จิตสำนึก (Consciousness) หรือ อีโก้ คือ จิตสำนึกของบุคคลในระดับที่รู้สึกตัว พฤติกรรมที่แสดงออกมาอาศัยหลักเหตุผล และความเหมาะสม
จิตไร้สำนึก (Unconsciousness) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
จิตไร้สำนึกจากประสบการณ์ (Personal Unconscious) คือ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นของบุคคลที่มีการรับรู้ในระดับจิตสำนึกมาก่อน แต่ถูกลืม หรือ ละเลย เพิกเฉย เก็บกด จนถูกผลักเข้าไปอยู่ในส่วนของจิตไร้สำนึก แต่อาจนำคืนกลับมาได้หากมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ทำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อนออกมา
จิตไร้สำนึกจากการสะสม (Collective Unconscious) คือ ผลรวมประสบการณ์ของมนุษย์ ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคลหนึ่ง และไม่เคยอยู่ในส่วนของจิตสำนึก แต่ได้มาจากการส่งต่อทางพันธุกรรม
ตามทฤษฎีจิตวิทยาการวิเคราะห์ของจุง บุคลิกภาพของบุคคลสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะของพฤติกรรมที่แสดงออกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
ชอบแสดงออก (Extroversion) บุคคลที่ชอบแสดงออก เป็นบุคคลที่ชอบแสดงความสามารถให้บุคคลอื่นเห็น มีความคล่องตัว กระฉับกระเฉง ชอบเข้าสังคม และชอบสร้างความสัมพันธ์
ชอบเก็บตัว (Introversion) บุคคลที่ชอบเก็บตัว เป็นบุคคลที่มีความระมัดระวังตัวเองสูง ชอบความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบการเข้าสังคม และไม่ชอบสร้างความสัมพันธ์
อัลเฟรด ดับเบิลยู แอดเลอร์ (Alfred W. Adler)
แอดเลอร์ ได้พัฒนาระบบจิตวิทยาปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นแนวทางบำบัดรักษาที่เป็นองค์รวมและให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ จิตวิทยาแบบแอดเลอร์มองปัจเจกบุคคลโดยให้ความสำคัญกับสังคมมากกว่าเรื่องเพศ และมุ่งเน้นที่การเลือก (Choice) และ การให้คุณค่า (Value) มากกว่าจิตวิทยาแบบฟรอยด์
แอดเลอร์มีความเชื่อว่าการศึกษาบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องศึกษาพฤติกรรมทั้งหมดที่บุคคลนั้นแสดงต่อสถานการณ์ หรือรูปแบบของพฤติกรรมที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคล
จากทฤษฏีบุคลิกภาพของแอดเลอร์นั้น สามารถสรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคลได้ ดังนี้
ลำดับการเกิดของเด็กในครอบครัว (Order of Birth)
แอดเลอร์ให้ความสำคัญต่อสังคมระดับครอบครัวเป็นอันดับแรก โดยสังเกตจากบุคลิกภาพของลูกคนโต คนกลาง คนสุดท้อง และ ลูกคนเดียวซึ่งจะแตกต่างกันไปอย่างเห็นได้เด่นชัด จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเพราะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากพ่อแม่แตกต่างกันไป
ประสบการณ์ในวัยเด็ก (Childhood Experience)
ประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการอบรมเลี้ยงดูในระยะแรกของชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี ซึ่งแอดเลอร์ได้ให้ความสนใจประสบการณ์เหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กเป็นปัจจัยที่มีผลต่อบุคลิกภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยแบ่งเป็น เด็กที่เลี้ยงดูแบบตามใจ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และ2.3 เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างสมบูรณ์
ความรู้สึกว่ามีปมด้อยและสร้างปมเด่นชดเชย (Inferiority Feeling and Compensation)
แอดเลอร์เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้คนเกิดปมด้อย คือ การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับบุคคลอื่นแล้วมีการเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วแต่ละคนมักจะมองเห็นว่าสิ่งที่ตนเองมีอยู่นั้นไม่สมบูรณ์ สู้คนอื่นไม่ได้ หรือเป็นปมด้อยเสมอ และความรู้สึกว่าเป็นปมด้อยนี้เอง ทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันในการที่จะดิ้นรนเพื่อเอาชนะปมด้อยของตน โดยการสร้างปมเด่นขึ้นมา เพื่อทำให้เกิดรู้สึกมั่นใจภูมิใจ พึงพอใจ และเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั้งหลายในสังคม
อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow)
อับราฮัม มาสโลว์ มีแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จะสนองความต้องการให้กับตนเอง และความต้องการของมนุษย์มีมากมายหลายอย่าง
โดยมนุษย์ต้องได้รับความพึงพอใจจากความต้องการขั้นพื้นฐานหรือต่ำสุดก่อน จึงจะเกิดความต้องการในขั้นสูงตามลำดับ หรือที่เรียกว่า
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchical Theory of Motivation)
คาร์ล แรนซัม โรเจอร์ (Carl Ransom Rogers)
คาร์ล แรนซัม โรเจอร์ เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ชาวอเมริกัน มีความเชื่อมั่นในตัวมนุษย์อย่างมากว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการมองเห็นคุณค่าในตนเอง มีเหตุผลเป็นของตนเอง สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ เชื่อถือไว้วางใจได้ และมีความต้องการพัฒนาตนเองให้สูงสุดในทุก ๆ ด้านเท่าที่ตนจะทำได้ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาด้านบุคลิกภาพของตนด้วย
นอกจากนี้โรเจอร์ยังเชื่อว่าประสบการณ์ในวัยเด็กที่บุคคลได้รับจากคน ใกล้ชิดรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง และคนเลี้ยงจะมีความสำคัญต่อการสร้างตัวตนของบุคคลขึ้นมา ดังนั้นคำชม คำวิจารณ์ คำตำหนิ คำยกย่อง รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิด อัตมโนทัศน์ หรือการรับรู้ตนเอง (Self-concept) ทั้งในทางบวกและทางลบได้เสมอ
ทฤษฎีที่สำคัญของ โรเจอร์ในการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์คือ ทฤษฎี ตัวตน (Self-Theory) โดยมองว่ามนุษย์ทุกคนมีตัวตน 3 แบบ ดังนี้ (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2551: 143)
ตนที่ตนมองเห็น (Self-Concept) หมายถึง ภาพของตนที่เห็นเองว่าตนเป็นคนอย่างไร คือใคร มีความรู้ ความสามารถเฉพาะตนอย่างไร เช่น คนสวย คนรวย คนขี้อาย คนช่างพูด เป็นต้น โดยทั่วไปคนรับรู้มองเห็นตนเองหลายแง่มุม อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือภาพที่คนอื่นเห็น เช่น คนที่เห็นแก่ตัวชอบเอาเปรียบผู้อื่นอาจไม่เคยรู้เลยว่าตนเป็นบุคคลประเภทนั้น
ตนตามที่เป็นจริง (Real Self) หมายถึง ลักษณะตัวตนที่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งบ่อยครั้งที่คนมักจะมองไม่เห็น ข้อเท็จจริงของตนอาจเพราะทำให้รู้สึกเสียใจ เศร้าใจ หรือ น้อยหน้าผู้อื่น เป็นต้น
ตนตามอุดมคติ (Ideal Self) หมายถึง ตัวตนที่อยากมีอยากเป็น แต่ยังไม่มีไม่เป็นในสภาวะปัจจุบัน เช่น คนขับรถรับจ้างแต่นึกฝันอยากเป็นเศรษฐีมีคนขับรถให้นั่ง เป็นต้น
โรเจอร์อธิบายเพิ่มเติมว่า หากตนที่มองเห็นกับตนตามที่เป็นจริงมีความแตกต่างกันมาก หรือมีข้อขัดแย้งกันมาก บุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาให้แก่ตัวเองและผู้คนรอบข้างได้ ในรายที่มีความแตกต่างกันรุนแรงเขาอาจเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตได้
กอร์ดอน วิลาร์ด ออลพอร์ต (Gordaon Willard Allport)
ออลพอร์ต เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน มีแนวคิดว่า คุณลักษณะ (Trait) เป็นรากฐานของระบบประสาทของบุคคล เป็นโครงสร้างของระบบจิตประสาท ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมบังคับหรือเป็น แกนนำให้บุคคลแสดงพฤติกรรม
คุณลักษณะ (Trait) คือ บทบาทที่ชักจูงใจให้เกิดพฤติกรรมโดยตรง มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษจะทำหน้าที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมของบุคคลทุกรูปแบบ
ออลพอร์ท แบ่งคุณลักษณะออกเป็น 2 ชนิด คือ
คุณลักษณะสามัญ (Common Traits)
คือ บุคลิกภาพทั่วๆ ไปที่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน และเผ่าพันธุ์เหมือนกัน ก็จะทำให้บุคคล มีบุคลิกภาพเหมือนกันได้เช่น คนไทยใจดี คนอเมริกันรักอิสระ คนจีนมีความขยัน เป็นต้น
คุณลักษณะเฉพาะตัว (Personal Disposition Traits)คือ เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับ ระหว่างคนสองคนได้ อุปนิสัยเฉพาะตัวแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือคุณลักษณะสำคัญ คุณลักษณะศูนย์กลางหรือคุณลักษณะร่วม และคุณลักษณะทุติยภูมิ ซึ่งทำงานตามความสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล
คุณลักษณะเฉพาะตัวแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
คุณลักษณะสำคัญ (Cardinal Disposition Traits) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คุณลักษณะเด่น (Eminent Traits)
จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมเกือบทุกด้านของบุคคล เป็นลักษณะเด่นที่แสดงออกชัดเจนเหนือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นได้ เป็นคุณลักษณะที่มากำหนดอารมณ์ ความรู้สึก และชี้นำวิถีทางชีวิต ควบคุมแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดพลังในการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล คุณลักษณะสำคัญนี้ อาจไม่ปรากฏกับทุก ๆ คนก็ได้ แต่ถ้าผู้ใดมีคุณลักษณะสำคัญเพียงลักษณะเดียวที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้น ก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพอ้างอิง (Reference Personality) ที่มักจะใช้เรียกผู้อื่นที่มีลักษณะเหมือนเขา
คุณลักษณะศูนย์กลาง หรือคุณลักษณะร่วม (Central Disposition Traits)
เป็นกลุ่มของคุณลักษณะของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล เป็นคุณลักษณะที่สังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มั่นคงอยู่ในบุคลิกภาพ แต่อาจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล เช่น ความทะเยอทะยาน การแข่งขัน ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา และความเมตตากรุณา ลักษณะเหล่านี้จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นการจะเข้าใจคุณลักษณะนี้ต้องสังเกตมาก เพราะบางอย่างไม่สามารถสังเกตอย่างตรงไปตรงมาจากท่วงทีอากัปกิริยาและการแสดงออกภายนอกได้
3.คุณลักษณะทุติยภูมิ ( Secondary Traits )
เป็นคุณลักษณะที่อยู่บริเวณรอบนอก ที่ผลักดันให้บุคคลแสดงออกโดยทั่วไป เป็นลักษณะที่มีอยู่มากในตัวบุคคล ได้แก่ ความสนใจ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เมื่อบุคคลชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นที่ดีที่มีต่อสิ่งนั้น ๆ ทำให้เขาเกิดความชอบ และสนใจ หรือเป็นเจตคติซึ่งบางครั้งเรียกคุณลักษณะชนิดนี้ว่า เป็นคุณลักษณะเชิงเจตคติ (Attitudinal Traits)