Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
Kidney Failure หรือ Renal Failure (AKI) (การวินิจฉัย (การตรวจปัสสาวะ…
Kidney Failure หรือ Renal Failure (AKI)
คือภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด จนไม่สามารถขับของเสียออกมาจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้ ทำให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำ เกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความไม่สมดุล หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ และเป็นอันตรายแก่ชีวิต
อาการ
ไตวายเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันหรือค่อย ๆ แสดงอาการ ขึ้นอยู่กับประเภทของไตวาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure หรือ Acute Renal Failure) เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใด โดยเริ่มจากปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย มีอาการบวมที่ขาและเท้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย หรือง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่ ทั้งนี้บางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรือในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีอาการชักหรือหมดสติเข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน
ไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure หรือ Chronic Renal Failure) อาการของไตวายเรื้อรังจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว แต่จะค่อย ๆ สำแดงอาการออกมาเป็นระยะ ไตวายเรื้อรังจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามระดับของค่าประเมินการทำงานของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate - eGFR) หรือค่าที่ประมาณว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้เท่าไหร่ ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีค่าประเมินการทำงานของไตอยู่ที่ 90-100 มิลลิลิตรต่อนาที (ml/min) โดยระยะของไตวาย มีดังนี้
ระยะที่ 1 ในช่วงแรกของอาการไตวายเรื้อรังจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน แต่สามารถทราบได้ด้วยวิธีการตรวจทางพยาธิวิทยา เช่น ค่าประเมินการทำงานของไต (eGFR) ซึ่งในะระยะแรก ค่าประเมินการทำงานของไตจะอยู่คงที่ประมาณ 90 ml/min ขึ้นไป แต่อาจพบอาการไตอักเสบ หรือพบภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่การทำงานของไตเริ่มลดลง แต่ยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นนอกจากการตรวจค่าการทำงานของไตเช่นเดียวกัน ซึ่งค่าการทำงานของไตจะเหลือเพียง 60-89 ml/min
ระยะที่ 3 ในระยะนี้ จะถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 ระยะย่อย คือ 3A และ 3B ตามค่าการทำงานของไต โดย 3A จะมีค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 45-59 ml/min ส่วน 3B จะอยู่ที่ 30-44 ml/min ซึ่งในระยะที่ 3 ก็จะยังไม่มีอาการใด ๆ สำแดงให้เห็น นอกจากค่าการทำงานของไตที่ทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 4 อาการต่าง ๆ จะสำแดงในระยะนี้ นอกจากค่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือเพียง 15-29 ml/min แล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อยขึ้น มีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา และเท้า ใต้ตาคล้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลง โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวตลอดเวลา
ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายของภาวะไตวาย นอกจากอาการที่คล้ายกับระยะที่ 4 แล้ว อาจมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงขึ้น และอาจมีการตรวจพบการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุ
การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายมากเกินไป ส่งผลให้ไตเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานลงอย่างเฉียบพลัน
ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปที่ไตผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด
โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดส่งผลโดยตรงกับไตทำให้ไตเสื่อม ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานส่วนมากจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรัง
การวินิจฉัย
การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาปริมาณของปัสสาวะที่ร่างกายขับออกมาได้ รวมทั้งตรวจหาโปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ วิธีนี้จะบอกได้เบื้องต้นว่าไตยังทำงานได้ดีหรือไม่
การตรวจเลือด จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกรองของไต ซึ่งถ้าหากมีภาวะไตวาย ปริมาณไนโตรเจน กรดยูเรีย (Blood Urea Nitrogen, BUN) และครีเอทินิน (Creatinine, Cr) ที่เป็นของเสียที่มาจากกล้ามเนื้อจะตกค้างในเลือดสูง ทั้งนี้ค่าปกติของคนทั่วไปจะอยู่ที่ BUN: ประมาณ 5-20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร Cr: ประมาณ 0.6-1.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และ 0.5-1.1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
การหาค่าประเมินการทำงานของไต (eGFR) นอกจากนี้อาจมีการหา eGFR เพิ่มเติมด้วย ซึ่งค่าดังกล่าวคือค่าที่จะแสดงให้เห็นว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองเลือดได้เท่าใหร่ วิธีการคำนวณคือจะนำเอาค่าต่าง ๆ รวมทั้ง BUN และ Cr ในเลือดมาคำนวณเพื่อให้ได้ค่าดังกล่าว ซึ่งค่าปกติของคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับไตจะอยู่ที่ 90 มิลลิลิตรต่อนาทีขึ้นไป
การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) จะแสดงให้เห็นภาพไตของผู้ป่วยซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติของไต และระบบทางเดินปัสสาวะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติแพทย์มักจะใช้ร่วมกับวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การรักษา
การฟอกไต (Dialysis)
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)