1.การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง โดยการสูดเอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก จากการไอหรือจามใส่ หรือเชื้อที่อยู่เป็น Normal flora ในช่องปากและคอหอยลงไปในปอด เช่น Streptococcus pneumoniae , Haemophilus influenzae ,Anaerobes เป็นต้น
2.การสำลัก เป็นกรณีที่เกิดจากการสำลักเอาน้ำและสิ่งปนเปื้อน ในผู้ป่วยจมน้ำ, น้ำย่อยในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน, สารเคมี หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด ซึ่งมักพบได้ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต ลมชัก หมดสติ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด จึงทำให้ปอดอักเสบจากการระคายเคืองของสารเคมีหรือการติดเชื้อ เรียกว่า "ปอดอักเสบจากการสำลัก" (Aspiration Pneumonia) ซึ่งการอักเสบนอกจากจะเกิดจากสารระคายเคืองแล้ว ยังอาจเกิดจากเชื้อโรคที่มีอยู่ในช่องปากและคอหอยที่ถูกสำลักลงไปในปอดด้วย
3.การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ได้แก่ การฉีดยาหรือให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีการแปดเปื้อนเชื้อ, การใส่สายสวนปัสสาวะหรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด หรือการติดเชื้อในอวัยวะส่วนอื่น ๆ 4.การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะใกล้ปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด 5.การแพร่เชื้อจากมือของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งสามารถแพร่ไปยังอีกคนหนึ่งได้ทางมือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด จึงทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลได้ การทำหัตถการบางอย่าง เช่น การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy), การใช้เครื่องมือช่วยหายใจหรือเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพปอดที่มีเชื้อปนเปื้อน
6.การได้รับเชื้อผ่านทางละอองฝอยของอุปกรณ์ Nebulizer ที่ไม่สะอาด หรือมีน้ำขังอยู่ในท่อของเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเชื้อที่สะสมอยู่จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างก็สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในโรงพยาบาลได้ 7.มีบางครั้งแต่น้อยมาก ที่เชื้อเข้าสู่ปอดได้โดยตรงจากการถูกวัตถุมีคมแทงเข้าปอด