Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
สรุปองความรู้ของนายหลวง ร.9 images - Coggle Diagram
สรุปองความรู้ของนายหลวง ร.9
10 โครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
จากคลองลัดโพธิ์ในเขตอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่แรกเริ่มเดิมทีขุดขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางลัดระหว่างลำน้ำเจ้าพระยาที่คดโค้ง เมื่อขาดการใช้งานมาเป็นเวลานานจึงมีสภาพตื้นเขิน และเมื่อถึงฤดูที่ น้ำเหนือไหลหลากหรือมีปริมาณฝนตกชุก การระบายน้ำจึงเป็นไปได้ช้า และเกิดสภาพน้ำาท่วมขังพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) มีแนวพระราชดำริปรับปรุงคลองลัดโพธิ์โดยจัดทำเป็นโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากคลองที่ขุดขยายเป็นการย่นระยะทางและเวลาการไหลของน้ำในบริเวณพื้นที่กระเพาะหมู ที่แต่เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาต้องไหลอ้อมถึง 18 กิโลเมตร ก็สามารถไหลลงทะเลได้รวดเร็วขึ้น ด้วยระยะทางเพียง 600 เมตร ทั้งยังสามารถบริหารจัดการนด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง และน้ำทะเลหนุนสูง
โครงการพัฒนาดอยตุง
“ฉันจะปลูกป่าดอยตุง” พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ที่ในเวลาต่อมาได้ก่อตั้งเป็นโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพระองค์ทรงได้รับ แรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยทรงสังเกตเห็นว่าชาวไทยภูเขาส่วนใหญ่ยากจนและขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต พระองค์จึงมีพระราชปณิธานริเริ่มทำเป็นโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมป์ เพื่อขยายผลการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้มีความรู้ มีอาชีพ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ พร้อมกับพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เคยเสื่อมโทรมบนดอยตุงให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปลูกป่าและส่งเสริมให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีจิตสำนึกและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ใช่แค่การปลูกพืชทดแทน แต่เป็นการพัฒนาที่มีความหลากหลายในการดำรงชีวิตที่ทำได้จริง โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการชั่งหัวมัน
บ้านไร่ของในหลวงแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการตามแนวพระราชดำริที่เกิดขึ้นจากความเอาพระราชหฤทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีต่อราษฎรให้สามารถนำแนวทางไปดัดแปลงใช้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผืนดินของตนเอง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 250 ไร่ ซึ่งผืนดินบริเวณนี้แห้งแล้ง ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ มีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่ทั้งหมดจัดทำเป็นโครงการตัวอย่างแบบบูรณาการด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ภายใต้ชื่อ “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” โดยสร้างถนน อ่างเก็บน้ำ อาคาร ติดตั้งระบบไฟฟ้า พัฒนาปรับปรุงและปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแปลงปลูกพืชผัก ผลไม้ และสัตว์เลี้ยง ขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยคาดหวังว่าอนาคตที่นี่จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่สมบูรณ์แบบสำหรับประชาชนทั่วไป
ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน
จากสภาพพื้นที่เดิมในบริเวณนี้ที่เนื้อดินเป็นทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีการชะล้างพังทลายของดินสูง ดินรองรับน้ำได้น้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) มีแนวพระราชดำริกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ทางการเกษตรให้เป็นศูนย์ด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์แบบด้วยวิธีการเกษตรแผนใหม่ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาที่ดิน การวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตและเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ถือเป็นต้นแบบแนวทางและตัวอย่างการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่นได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์
เป็นอีกหนึ่งโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ที่ทำการวิจัย ทดสอบ ค้นหาสายพันธุ์ของพืชที่สามารถต้านทานโรค เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และฤดูกาล ให้ผลิตผลที่ดีมีคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดแนะนำ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอหรือเผ่ากะเหรี่ยงให้มีรายได้เลี้ยงชีพแบบพออยู่พอกิน ด้วยการปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุข ความเข้มแข็งของชุมชน และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าให้คงอยู่ตลอดไป
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) มีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2524 ความว่า “…ให้พิจารณาพื้นที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเลจันทบุรี…”ต่อมาจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสม กำหนดบริเวณตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ ให้เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนขึ้น เพื่อดำเนินการศึกษา สาธิต และพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเลอ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยการวางแผนพัฒนาจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืนอย่างมีระบบ ตั้งแต่การศึกษาทดลอง วิจัย ทดสอบ สาธิต ขยายผล และการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสู่ประชาชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์กลางในการอบรมเผยแพร่ผลการศึกษา การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง พัฒนาด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิต ตลอดจนพัฒนากิจกรรมอื่นๆ แบบบูรณาการควบคู่ไปด้วย พร้อมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ ส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน เป็นการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาที่นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ทำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปี 2543 และรางวัลดีเด่นในปี 2545 ประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
เป็นที่ทราบกันดีว่าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีความอุดมสมบูรณ์ของขุนเขาและป่าไม้ ทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ สถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่งที่ดำเนินงานวิจัยด้านไม้คัดดอก ไม้ประดับ พืชผัก ผลไม้ และงานประมงบนพื้นที่สูง รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยที่จะนำไปสู่การส่งเสริมอาชีพเพื่อให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอและเผ่าม้งมีรายได้ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้านสังคมและการอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร โดยมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง รักษาสภาพแวดล้อม และเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์
จากที่ดินกว่าร้อยไร่ในเขตอำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ที่ นายสมจิตต์ และนางมณี อิ่มเอย น้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เป็นศูนย์กลางการใช้ประโยชน์จากกระบือในด้านเกษตรกรรมระดับพื้นบ้าน และเป็นสถานที่สำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนาและทำงานด้านการเกษตรกรรมร่วมกับชาวนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
ลุ่มน้ำปากพนังในอดีตเคยอุดมสมบูรณ์ เปรียบเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เมื่อกาลเวลา ผ่านไป กลับประสบปัญหาหลายประการ ด้วยสาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สภาพดินมีปัญหา นิเวศแหล่งน้ำขาดสมดุล เกิดปัญหาอุทกภัย น้ำเค็มรุกเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง ทำให้ชาวบ้านใช้น้ำในการอุปโภค บริโภคไม่ได้ ปัญหาของดินเปรี้ยวรวมทั้งน้ำเน่าเสียจากพื้นที่ทำนากุ้ง ไหลลงสู่ลำน้ำต่างๆ จนไม่สามารถนำน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้กลับคืนสู่พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่และยั่งยืน มีการน้ำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำมาใช้ มีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นเป็นการสร้างรายได้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่ดินอย่างจริงจังและ ต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวและการเกษตรในพื้นที่โครงการฯ ให้เป็นแหล่งผลิต พันธุ์พืชที่เคยเป็นมาในอดีตให้กลับคืนมาสู่ประชาชนลุ่มน้ำปากพนังเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนต่อไป
โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มากมายด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด กับภูมิทัศน์รอบด้านที่สวยงามด้วยธรรมชาติของสายน้ำต้นไม้ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแกนดินเหนียว ขนาดยาวที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยกักเก็บน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในจังหวัดเลย เพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่จังหวัดลพบุรี สระบุรี และจังหวัดใกล้เคียง มีความยาว 4,860 เมตร สูงราว 36.50 เมตร