Please enable JavaScript.
Coggle requires JavaScript to display documents.
โครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 -…
โครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
โครงการพระราชดำริปางตอง 2
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือ ปางอุ๋ง เป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้อยู่ติดกับแนวชายแดนประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่อันตราย เพราะมีกองกำลังต่างๆ มีการขนส่งอาวุธ ปลูกพืชเสพติด รวมถึงบุกรุกทำลายป่าไม้อยู่เสมอ จึงโปรดให้รวบรวมราษฎรบริเวณนี้ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน พร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน
โครงการประตูระบายน้ำคลองวัดโพธ์
เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ซึ่งภายในโครงการ ได้มีการสร้างประตูระบายน้ำ ที่สามารถเปิดระบายน้ำท่วมขัง และสามารถปิดเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูงได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้เขตกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังมีการติดตั้งกังหันทดน้ำ สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วยบรรยากาศโดยรอบโอบล้อมด้วยโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอย่าง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 คนจึงนิยมเดินทางไปพักผ่อนช่วงแดดร่มลมตกกันจำนวนมาก
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อเป็นทุนทรัพย์ก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตั้งแต่ปี 2524 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ด และกาแฟพันธุ์อราบิกา ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง ปัจจุบันทางศุนย์ฯ นี้ได้สร้างที่พักติดภูเขาและสายน้ำอย่างดีให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาพักได้ และหมู่บ้านใกล้เคียงอย่าง “แม่กำปอง” ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ -ขุนวาง-
ศูนย์วิจัยฯ นี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวนกรมวิชาการเกษตร ใช้ท้องทุ่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริม และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนที่สูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นักท่องเที่ยวนิยมมาสัมผัสความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอยสีชมพู ในช่วงฤดูหนาว และชมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปลงไม้ และผลไม้เมืองหนาว เช่น สาลี่ พลัม ท้อ เนคทารีน และสตรอว์เบอร์รี
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์
ศูนย์พัฒนาฯ แห่งนี้ ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตหมู่บ้าน วัดจันทร์ พระองค์ทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” ขึ้น เพื่อช่วยให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ราษฎร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสถานที่นี้มีทิวทัศน์ที่สวยงามของป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อปป.) เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ
พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดยาวตามแนวเหนือใต้ และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800-1,200 ม. เป็นสถานที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าม้ง และกะเหรี่ยง ที่ยึดอาชีพหลักในการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย กระทั่งถึงปี 2539 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ” โดยการให้ความรู้ และส่งเสริมอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงการลดใช้สารเคมีกับการปลูกกะหล่ำปี
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
เดิมสถานที่แห่งนี้มีการบุกรุกผืนป่า ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ปลูกฝิ่น จากชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และชาวไทยภูเขา ทำให้ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอยากให้ชาวเขาเหล่านั้นมีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง จึงมีพระราชดำริให้ถ่ายทอดความรู้การเกษตรแผนใหม่ ให้หันมาทำการเกษตรแบบถาวร จึงจัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ขึ้นในปี 2522 ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล และเปลี่ยนมาเป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี 2550
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
กิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้จัดการระบบชลประทาน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ให้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมตลอดทั้งปี พัฒนาให้มีแปลงปลูกพืชผัก ส่งเสริมการปลูกหวายดง ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ตลอดจนการเพาะเลี้ยงครั่ง ศึกษาทดลองและพัฒนาการประมงน้ำจืด ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงทุ่งหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกอบรมด้านเกษตรกรรมให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน และคนที่สนใจทั่วไป
โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงฯ
โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงฯ เกิดจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการพัฒนาอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสร้างคันดินกั้นน้ำให้สูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น เป็นที่รองรับน้ำ ป้องกันภัยน้ำท่วมได้ และผันน้ำในบึงไปพัฒนาพื้นที่การเกษตรโดยรอบได้อย่างเพียงพอ แถมยังเป็นสถานที่พักผ่อนที่สวยงาม บรรยากาศดี จนถูกขนานนามว่า “ทะเลอีสาน” ซึ่งเป็นที่ชุ่มน้ำที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าไม้ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและคนในชุมชน เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในโครงการมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศของพื้นที่ และให้ความรู้เรื่องพันธุ์สัตว์น้ำ มีกิจกรรมล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน และวิถีชุมชนประมงปากน้ำปราณบุรี ชมป่าโกงกางที่มีอายุร่วมร้อยปีที่หาชมได้ยาก รวมถึงป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา กวาง นกยูง ไก่ป่า เป็นต้น
โครงการศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
โครงการนี้ก่อตั้งเพื่อพัฒนาอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลจันทบุรี ให้ทำอาชีพควบคู่กับระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และยั่งยืน มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว เป็นต้น และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบนิเวศ การบริหารจัดการชายฝั่ง อีกทั้งส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนโดยรอบ โดยมีสะพานทอดยาวท่ามกลางร่มไม้ของป่าชายเลน